เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และส่วนภูมิภาค จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายชยาวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ.9) สำนัก งานตำรวจแห่งชาติ ศ.ดร.ทันตแพทย์หญิงศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รักษาการกรรมการ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมลงนาม ที่ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า อว.
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ขอชื่นชมทุกหน่วยที่มาร่วมมือกันพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อป้องกันโควิด – 19 โดยเฉพาะ วช. ที่เป็นหน่วยให้ทุนสนับสนุน ที่สำคัญ วันนี้ (28 ก.ย.64) เป็นวันแรกในรอบ 2 เดือนที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ของไทยต่ำกว่า 1 หมื่นคน ที่ผ่านมา ตนไปตรวจเยี่ยมที่ไหนก็จะเน้นย้ำตลอดว่า เราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน เพราะเชื่อเสมอว่า รัฐไทยเป็นรัฐที่ล้มเหลวยากมาก เพราะคนไทยมีลักษณะพิเศษ คือ มีความเมตตาสูง พร้อมช่วยเหลือกัน มีการระดมบริจาคกันมากมาย แม้คนที่ลำบากก็ยังจะมีน้ำใจกับผู้อื่น เราถึงสู้ได้ในทุกวิกฤติ ที่สำคัญ คนไทยมีวินัยมากพอ รู้ว่าเวลาใดควรเข้มงวดกับตนเอง ไม่เช่นนั้นมาตรการต่างๆ ที่ออกมาคงไม่ได้รับความร่วมมืออย่างดี และเรายังมีคนเก่งกระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ มากมาย อย่าง อว. ก็พร้อมเป็นกองหนุนสนับสนุนการทำงานของ สธ. ทั้งการเปิด รพ.สนาม การจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน นำบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาสนับสนุนการทำงานทุกด้าน โดยเฉพาะการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงงานวิจัยต่างๆ มาใช้ประโยชน์ เช่น การนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยให้ผู้ป่วยจัดการตัวเองได้ เพื่อลดภาระของแพทย์และพยาบาล นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังสนใจใช้เทคโนโลยี AI ของ อว. ในการป้องกันอาชญากรรม ซึ่ง อว. ก็พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการนำเทคโนโลยี AI ไปสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI : Arificial Inteligence) มาใช้ประโยชน์ในการร่วมป้องกันโควิด -19 โดยได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อดำเนินการโครงการเรื่อง “ปัญญาประดิษฐ์เพื่อประเมินพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของประชาชนในช่วงโควิด-19" และในระยะแรกได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครและบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ในการสร้างระบบวิเคราะห์ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เพื่อวิเคราะห์การสวมหน้ากากอนามัยและการสัญจรของภาคประชาชนในสถานที่ต่าง ๆ โดยมีการรายงานผลการวิเคราะห์ไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และมีการสื่อสารต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวต่อว่า วช.เห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อป้องกันโควิด–19 ภาย ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และส่วนภูมิภาค โดยนำระบบปัญญาประดิษฐ์/เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการคัดกรองและสนับสนุนการป้องกันสุขภาพประชาชน ได้แก่ การส่งเสริมการสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง การส่งเสริมการเว้นระยะห่าง การให้ความรู้เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเพื่อการรับรู้สุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สามารถพัฒนาระบบตรวจจับหน้ากากอนามัย การพัฒนาระบบการเว้นระยะห่าง และระบบหลังบ้านที่ใช้ในการบริหารการเฝ้าระวัง โดยจะมีการนำเสนอข้อมูลหรือดาต้าวิชวลไลเซชั่น (Data Visualization) จากข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ ในการประเมินพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัยของประชาชน ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และส่วนภูมิภาค เพื่อส่งเสริมและขอความร่วมมือในการใส่หน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งระบบประเมินและติดตามการใส่หน้ากากอนามัย ระบบวัดการเว้นระยะห่างจะช่วยทำให้มีข้อมูลนำเสนอต่อภาครัฐ รวมไปถึงภาคประชาชน ในการให้ความร่วมมือในการป้องกันตัวจากโรคระบาดในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และส่วนภูมิภาคต่าง ๆ
ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง กล่าวว่า ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัย (AiMASK) ได้รับการสนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยจาก วช. ในการดำเนินโครงการ เพื่อประมวลผลการใส่หน้ากากอนามัยของประชาชน ซึ่งระบบเอไอดังกล่าวนี้ มีประโยชน์อย่างมากเนื่องจากสามารถที่จะติดตามและวัดผลว่าประชา ชนในแต่ละพื้นที่ได้ใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ใส่ รวมทั้งมีการใส่แต่ไม่ถูกต้อง ซึ่งระบบสามารถประมวลผลอย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็วแบบเรียลไทม์ จึงเป็นข้อมูลสำคัญในการบริหารสถานการณ์ว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยง หรือในเวลาใด รวมทั้งใช้ในการประเมินภาพรวมว่าได้มีความเข้มงวดหรือระมัดระวังในการป้องกันการแพร่ระบาดมากน้อยแค่ไหน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าการ์ดสูงหรือการ์ดตก รวมทั้งเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวังและหาบริเวณที่มีความเสี่ยงเพื่อจะลดโอกาสเสี่ยงได้ล่วงหน้า ทำให้ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ในการเตือนประชาชนให้กระชับมาตรการในบางช่วงบางเวลาได้ด้วย ทั้งนี้ยังจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับใช้ในการติดตามสถานการณ์ในช่วงที่มีการผ่อนคลาย
Maggi รายงาน