วันที่ 6 ตุลาคม 2564 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน พร้อมคณะผู้บริหาร นำสื่อมวลชน ติดตามความก้าวหน้างานสำรวจ ออกแบบโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก จังหวัดชัยนาท (เพิ่มเติม) และลงพื้นที่ประตูระบายน้ำช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้เกิดอุทกภัยขึ้นบ่อยครั้งและมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กรมชลประทานจึงได้จัดทำแผนบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวน 9 แผน โดยมีมติเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ซึ่งโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก เป็น 1 ใน 9 แผนงาน เป็นงานปรับปรุงคลองชัยนาท-ป่าสัก หากโครงการนี้แล้วเสร็จจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในลุมน้ำเจ้าพระยาในภาพรวมของทั้งลุ่มน้ำได้ โดยสามารถตัดยอดน้ำหลากที่ผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้สูงถึง 800 ลบ.ม. / วินาที
"สำหรับ แนวทางการขยาย/ปรับปรุงคลองชัยนาท-ป่าสัก ประกอบด้วย (1) คลองส่งน้ำดาดคอนกรีต ใช้ชื่อว่า “คลองส่งน้ำอนุศาสนนันท์” เป็นคลองขุดใหม่แนวคลองขนานไปกับคลองระบายชัยนาท-ป่าสัก ส่งน้ำโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity) ต้นคลองรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์ ซึ่งเป็นอาคารรับน้ำปากคลองตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท รับน้ำได้สูงสุด 120 ลบ.ม/วินาที ขนาดคลองส่งน้ำจะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ตามปริมาณความต้องการใช้น้ำในพื้นที่โครงการชลประทาน 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาช่องแค โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียม และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงราง (2) คลองระบายน้ำหลาก ใช้ชื่อว่า “คลองระบายชัยนาท-ป่าสัก” ขุดขยายคลองชัยนาท-ป่าสักเดิม ให้ชิดเขตคลองฝั่งซ้าย เพื่อเพิ่มความจุคลองให้สามารถระบายน้ำหลากจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่แม่น้ำป่าสักได้สูงสุด 930 ลบ.ม./วินาที มีอาคารรับน้ำปากคลองจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านประตูระบายน้ำปากคลองระบายชัยนาท-ป่าสักตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ซึ่งในคลองระบายชัยนาท-ป่าสัก จะมีอาคารบังคับน้ำ 4 แห่ง
ที่ผ่านมาได้มีการดำเนิน งานสำรวจ ออกแบบ ระยะที่ 1 แล้วเสร็จไปแล้วในปี พ.ศ. 2562 รวมระยะทาง 46.500 กิโลเมตร ส่วนการดำเนินงานในระยะที่ 2 ประกอบด้วย 1. งานสำรวจ ออกแบบ คลองส่งน้ำอนุศาสนนันท์ เริ่มตั้งแต่ท้ายประตูระบายน้ำช่องแค จังหวัดนครสวรรค์ (กม.46+602) ถึงท้ายประตูระบายน้ำเริงราง จังหวัดสระบุรี (กม.120+732) รวมระยะทางประมาณ 74.13 กม.
2. งานสำรวจ ออกแบบ คลองระบายชัยนาท-ป่าสัก เริ่มตั้งแต่ กม.46+500 อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ จนถึงแม่น้ำป่าสัก ตำบลเริงราง อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี กม.134+365 รวมระยะทางประมาณ 87.86 กม. โดยขุดขยายคลองชัยนาท-ป่าสักเดิม จนถึงเขตคลองทางฝั่งซ้าย พร้อมออกแบบถนนเลียบคลองทั้งสองฝั่ง โดยคลองระบายชัยนาท-ป่าสัก จะทำหน้าที่ผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจากปตร.ปากคลองระบายชัยนาท-ป่าสัก (กม.0+370) ด้วยอัตราการระบายน้ำสูงสุด 930 ลบ.ม./วินาที ไปถึง กม.126+879 ซึ่งเป็นจุดแยกการระบายน้ำ ปริมาณน้ำส่วนหนึ่งจะระบายผ่านคลองระบายชัยนาท-ป่าสัก 800 ลบ.ม./วินาที ไหลลงแม่น้ำป่าสักหน้าเขื่อนพระรามหกแห่งใหม่ ตำบลเริงราง อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี และปริมาณน้ำอีกส่วนหนึ่งจะระบายผ่าน ปตร.ปากคลองชัยนาท-ป่าสัก (เดิม) (กม.0+286) ด้วยอัตราการระบาย 130 ลบ.ม./วินาที เข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก (เดิม) ไหลลงแม่น้ำป่าสักเหนือเขื่อนพระรามหก
พร้อมทั้งออกแบบอาคารประกอบต่าง ๆ รวม 76 แห่ง ประกอบด้วย อาคารบังคับน้ำในคลองส่งน้ำอนุศาสนนันท์ อาคารบังคับน้ำในคลองระบายชัยนาท-ป่าสัก สถานีสูบน้ำ อาคารรับน้ำป่า อาคารระบายน้ำ อาคารเชื่อมคลอง ตลอดจนท่อประปาหมู่บ้าน เป็นต้น นอกจากนี้ทั้งสองคลองมีสะพานรถยนต์ 33 แห่ง และรถไฟ 1 แห่ง ข้ามคลองส่งน้ำอนุศาสนนันท์ และคลองระบายชัยนาท-ป่าสัก" นายเฉลิมเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน รวมทั้งสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภค-บริโภค อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน/ผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและจ้างงานในท้องถิ่น ซึ่งหลังจากสำรวจ-ออกแบบโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะได้การนำเสนอโครงการ ต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในลำดับต่อไป