วันนี้ (19 ตุลาคม 2564) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับจังหวัดชุมพร นำโดย นายสัมฤทธิ กองเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นำทีมนักวิจัย จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง “โครงการชุดโรงงานพร้อมเครื่องจักรแปรรูปผลไม้ตัวต่อเพื่อธนาคารผลไม้เคลื่อนที่” และ “โครงการนวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่ามังคุดสำหรับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน : บทเรียนต้นแบบจากชุมชนลุ่มน้ำหลังสวน” ลงพื้นที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ผนึกการทำงานกับภาครัฐ เอกชน และกลุ่มชาวสวนมังคุด เพื่อขับเคลื่อนการแปรรูปผลไม้เพิ่มมูลค่า แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด กระตุ้นการจ้างงาน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย วช. ตระหนักถึงปัญหา และผลกระทบในหลายมิติ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก จึงได้วางเป้าหมายการวิจัยและพัฒนา ให้สอดรับกับแผนพัฒนาประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็ง โดยส่งเสริมให้ “นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ภายใต้แนวคิดหลัก คือ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า ไปสู่ “นวัตกรรม” เปลี่ยนภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และเปลี่ยนภาคการผลิตสินค้า ไปสู่ภาคการบริการ
มากขึ้น วช.จึงได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัย แก่โครงการชุดโรงงานพร้อมเครื่องจักรแปรรูปผลไม้ตัวต่อเพื่อธนาคารผลไม้เคลื่อนที่ ที่ได้มาตรฐานถูกหลักวิชาปฏิบัติการ GMP ผ่านการสาธิตการใช้ประโยชน์พื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และโครงการนวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่ามังคุดสำหรับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน อันมีอัตลักษณ์ เชิงศิลปวัฒนธรรมและประเพณี รังสรรค์เรื่องราวอันน่าสนใจ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าแปรรูปทางการเกษตร โดยทั้ง 2 โครงการนับเป็นการสร้างต้นแบบงานวิจัยเชิงพื้นที่ สำหรับการถ่ายทอดระบบการผลิตไปยังชุดการผลิตอื่นได้อีก ช่วยยกระดับขีดความสามารถให้กลุ่มเกษตรกรจังหวัดชุมพร และยังก่อให้เกิดการจ้างงานกับคนในพื้นที่ หรือนักศึกษาจบใหม่ได้
รศ.ดร.ปิติเขต สู้รักษา หัวหน้าโครงการชุดโรงงานพร้อมเครื่องจักรแปรรูปผลไม้ตัวต่อเพื่อธนาคารผลไม้เคลื่อนที่ กล่าวว่า คณะนักวิจัย เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาด้านผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่เข้ามาสมทบ ทำให้สินค้นทางการเกษตรไม่สามารถส่งออกไม่ได้ จึงเกิดการล้นตลาด ทีมนักวิจัยมีประสบการณ์และความรู้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผลไม้กว่า 100 ผลิตภัณฑ์ มีประสบการณ์ในการทำงานมานานมากกว่าสิบปี เชื่อมั่นได้ว่า ชุดโรงงานพร้อมเครื่องจักรแปรรูปผลไม้ตัวต่อ จะช่วยสร้างความพร้อมและประสิทธิภาพให้เครื่องจักรสำหรับการแปรรูปผลไม้ และการจัดสร้างสถานที่ผลิตพร้อมใช้เคลื่อนที่ได้ตามข้อกำหนด GMP โดยการสร้างชุดเครื่องจักรตัวต่ออยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ ประกอบพร้อมใช้งาน สามารถเคลื่อนที่ไปในชุมชน แหล่งผลิตผลทางการเกษตร สามารถแปรรูปพืชผลทางการเกษตรให้อยู่ในรูปแช่เยือกแข็ง เพื่อเก็บรักษาผลไม้ที่ล้นตลาด รอการแปรรูปเป็น ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ไว้ในธนาคารผลไม้ได้อย่างเร่งด่วนและทันเวลา
ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ หัวหน้าโครงการนวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่ามังคุดสำหรับเศรษฐกิจฐานราก
อย่างยั่งยืน : บทเรียนต้นแบบจากชุมชนลุ่มน้ำหลังสวน กล่าวว่า การแปรรูปมังคุด ได้วางเป้าหมายให้มีคุณค่าตรงกับความต้องการของตลาด เพิ่มมูลค่าให้มังคุดสด และเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์มังคุดแปรรูป เป็นการกระตุ้นความต้องการมังคุดสด เพื่อบรรเทาปัญหามังคุดล้นตลาดที่กระทบต่อเกษตรกร โดยได้ออกแบบ 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำมังคุดพร้อมดื่ม เจลเพื่อพลังงานจากมังคุด มังคุดสดตัดแต่งพร้อมรับประทาน เครื่องดื่มมังคุดผงชงเสริมโพรไบโอติกและพรีไบโอติก และผลิตภัณฑ์เค้กจากเนื้อสดและผงจากเปลือกมังคุด ซึ่งนวัตกรรมการผลิตสามารถรักษารสชาติ กลิ่นหอม สี รสสัมผัส และสารอาหารของมังคุดสดให้ยังคงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์มีความเชื่อมโยงกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม บอกเล่าเรื่องราวผ่านประเพณี “แห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง” ของชาวหลังสวน สามารถนำมาเป็นสินค้าของฝากของที่ระลึกสร้างเศรษฐกิจให้กับอำเภอหลังสวนในฤดูการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อจัดจำหน่ายในพื้นที่เพื่อสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ ด้วยมิติการเกษตรและการท่องเที่ยวได้
พร้อมกันนี้ วช. โดย ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ที่ปรึกษาโครงการและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ภาคประชาคมวิจัย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมชมชุดโรงงานพร้อมเครื่องจักรแปรรูปผลไม้ตัวต่อ พร้อมหารือการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่ามังคุดไปใช้ประโยชน์ร่วมกับจังหวัดชุมพร ระหว่างวันที่ 19 – 20 ตุลาคม 2564 โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เกษตรกรจะได้รับการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด สร้างการตระหนักรู้ด้านวิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการเกษตรและการท่องเที่ยว โดยมีชุมชนชาวลุ่มน้ำหลังสวนเป็นต้นแบบ นอกจากจะสามารถพยุงเศรษฐกิจในช่วงส่งออกไม่ได้แล้ว ยังส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพการผลิตและบริโภคในประเทศให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนมากยิ่งขึ้นต่อไป