นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงแนวคิดการจัดงานประชุมสัมมนานานาชาติ ด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว บนระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งตอนใต้ ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม (CVTEC) เพื่อเป็นเวทีในการสร้างเครือข่าย ยกระดับองค์ความรู้ และเป็นเวทีสำหรับการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ระหว่างผู้ประกอบการไมซ์ของจังหวัดต่าง ๆ บนพื้นที่เชื่อมโยง 3 ประเทศ ประกอบด้วย พื้นที่จังหวัดชลบุรี- ระยอง-จันทบุรี-ตราด ของไทย กับจังหวัดเกาะกง-สีหนุวิลล์-กัมปอต-แกป ของกัมพูชา และจังหวัดเกียนยาง-กาเมา ของเวียดนาม เพื่อเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการได้จับคู่ทางการค้า ในการรองรับนักเดินทางไมซ์ หลังรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ
อีกทั้งจะมีการจับคู่ธุรกิจด้านการค้าและการลงทุน ระหว่างผู้ประกอบการ SME ไทย เจรจาจับคู่ธุรกิจกับ Buyer จาก Modern Trade ที่มีสาขาในกัมพูชา และเวียดนาม และตัวแทนกระจายสินค้าในกัมพูชา และเวียดนาม เพื่อเป็นการขยายช่องทางการตลาดของ SME ออกไปสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน
นายสนั่น กล่าวว่า โครงการ CVTEC เป็นโครงการที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ "ทีเส็บ" และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยหอการค้าและภาคท่องเที่ยวของกัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งปีนี้ได้เพิ่มพันธมิตรในการจัดงานคือ สภาธุรกิจไทย-กัมพูชา และสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม นับเป็นโครงการที่ดำเนินการร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้กลไกลไมซ์ผลักดันให้เกิดการยกระดับการเชื่อมโยงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและไมซ์ บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งตอนใต้ (Southern Coastal Economic Corridor) และยังสามารถพัฒนาให้เชื่อมโยงกับเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) ได้ในอนาคตอีกด้วย
โดยแต่ละจังหวัดบนพื้นที่เชื่อมโยง CVTEC ล้วนแต่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ เป็นเส้นทางที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญจำนวนมาก สามารถเดินทางไปมาระหว่างกันได้อย่างสะดวก ทั้งทางรถและทางเรือ และนอกจากการมีจุดขายของสินค้าและบริการที่แข็งแกร่งในพื้นที่แล้ว พื้นที่เชื่อมโยงดังกล่าว ยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียบพร้อมในการรองรับการเดินทางไมซ์ไม่ว่าจะเป็น ที่พัก สถานที่จัดประชุมสัมมนาที่ได้มาตรฐาน รวมถึงเครือข่ายธุรกิจในท้องถิ่นที่แข็งแรง
ด้านนายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อำนวยการใหญ่ สายงานบริหาร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนงานในการส่งเสริมกิจกรรมไมซ์บนเส้นทางเชื่อมโยง CVTEC ของ สสปน. ในปีนี้นั้น สืบเนื่องจากการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมกิจกรรมไมซ์ในปีที่แล้ว สสปน. มีแผนดำเนินกิจกรรมไมซ์สู่ภาคปฏิบัติ ประกอบด้วย การผลักดันให้เกิดการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านการค้าการลงทุนให้กับอุตสาหกรรมทั้งสินค้าและบริการบนพื้นที่ ผ่านกลไกการจัดงานแสดงสินค้า โดยสนับสนุนงบประมาณการจัดงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและบริการเด่นของพื้นที่
รวมถึงการสนับสนุนการเดินทางมาของนักธุรกิจไมซ์จากกัมพูชาและเวียดนาม ร่วมกิจกรรมเจรจาทางธุรกิจ ส่งเสริมให้เกิดการสร้างการรับรู้ถึงสินค้าบริการใหม่บนพื้นที่เชื่อมโยง 3 ประเทศ ผ่านการจัดกิจกรรม FAM TRIP เพื่อเป็นการนำเสนอและต่อยอดไอเดียสร้างสรรค์บนเส้นทางสายไมซ์ โดยใช้องค์ประกอบ Thailand 7 MICE Magnificent Theme (7 Theme) เป็นกลไกเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ตลอดแนวพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ของทั้ง 3 ประเทศ ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไมซ์ของ 3 ประเทศ ได้มีโอกาสในการเจรจาจับคู่ทางการค้าและเชื่อมโยงเครือข่ายด้านธุรกิจไมซ์ระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ผ่านการจัดกิจกรรม MICE Business Roadshow CVTEC
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมผลักดันให้ภาคเอกชนและเครือข่ายในพื้นที่ ใช้เวที CVTEC ในการสร้างเครือข่ายเพื่อรวมตัวกันเสนอตัวในการเป็นเจ้าภาพในการประมูลสิทธิ์ งาน International Meeting & conference ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเด่นลงในพื้นที่ด้วย
สำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งตอนใต้ (Southern Coastal Economic Corridor) เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ถือเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวมากที่สุดในประเทศ ในขณะที่กัมพูชาและเวียดนามในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มี GDP อยู่ในระดับสูง (ประมาณ 7%) และจังหวัดในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจนี้ ยังเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญไปสู่ศูนย์กลางและภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ดังนั้น การเสริมศักยภาพการเชื่อมโยงกันของเส้นทางไมซ์ดังกล่าว จะช่วยเพิ่มศักยภาพการค้าและการลงทุนของทั้ง 3 ประเทศได้มีประสิทธิภาพ