วันที่ 28 ธันวาคม 2564 เวลา 11.00 น. ที่อาคารสถานีขนส่งสินค้าร่มเกล้า ชั้น 5 ห้องเลขที่ 516-517 เลขที่ 14 ถนนไอซีดี แขวงคลองสามประเวศ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือให้ นายณัฏฐ์ ธีรณัฐสุภานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการธรรมาภิบาลแห่งชาติ ในฐานะรักษาการประธาน เรื่องขอให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพงและความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการขนส่ง
นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า... หลังจากที่ยื่นหนังสือขอให้รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อให้ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ 25 บาทต่อลิตรอย่างต่อเนื่องกว่า 2 เดือน รวมทั้งจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ “ ทรัคพาวเวอร์ (Truck Power) ” 2 ครั้ง ผู้ประกอบการรถบรรทุกหยุดเดินรถ 20% มาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ปรากฎว่ายังไม่มีความคืบหน้าและรับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างจริงจัง
ดังนั้น จึงจะมีการยกระดับกิจกรรม “ ทรัคพาวเวอร์ไฟนอลซีซั่น ” ที่หน้ากระทรวงพลังงานและอาจขยายไปยังกระทรวงอื่นๆด้วย โดยจะนัดวันชุมนุมอีกทีหนึ่ง พร้อมขออนุญาตจัดชุมนุมตามกฎหมาย อีกทั้งจะมีการหยุดเดินรถเพิ่มอีก 30% คาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่ (พรุ่งนี้) วันที่ 29 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2565 เพื่อประเมินสถานการณ์ในการยกระดับอีกครั้ง สำหรับการหยุดเดินรถเพิ่มครั้งนี้ เดิมได้หยุดเดินรถไปแล้ว 20% ทำให้รวมเป็นหยุดเดินรถ 50% ซึ่งการใช้มาตรการหยุดเดินรถนี้ ที่ผ่านมาทำให้หลายภาคส่วนได้รับผลกระทบ เนื่องจากตอนที่หยุดเดินรถ 20% ภาคการเกษตร และภาคก่อสร้าง ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก หากหยุดเดินรถจะทำให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไม่ได้แน่นอน
ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่ทำตามข้อเรียกร้องอีก ทางผู้ประกอบการจะดำเนินมาตรการดังนี้ คือ 1.ปรับขึ้นราคาค่าขนส่งสินค้า 2.หยุดกิจการเดินรถ ขณะนี้มี 10 สมาคมที่เป็นสมาชิกสหพันธ์ฯ มีรถบรรทุกจำนวน 400,000 คัน และมีรถที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อยู่ที่ 1,500,000 คัน ซึ่งการหยุดกิจการนี้เนื่องจากแบกรับภาระค่าต้นทุนน้ำมันไม่ไหว เพราะวิ่งมากเท่าไหร่ขาดทุนมากเท่านั้น ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายน้ำมันอยู่ที่ 60,000-70,000 บาทต่อคันต่อเดือน
ปัจจุบันรัฐบาลปรับลดราคาน้ำมันดีเซลยู่ที่ 28 บาทต่อลิตรเป็นเวลา 4 เดือนนั้น ขณะที่ตอนนี้ยังพบว่าไม่ได้ลดที่ 28 บาทต่อลิตรอย่างเดียว แต่ยังเป็นราคา 28 บาทกว่าๆ และมายืนยันว่าเพดานอยู่ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรอยู่ดี อยากให้ดูตัวอย่างประเทศมาเลเซีย รัฐบาลได้ช่วยเหลือราคาน้ำมัน เช่น น้ำมันราคา 30 บาทต่อลิตร ประชาชนจ่ายแค่ 20 บาทต่อลิตร
“ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีกำไร 8-9 หมื่นกว่าล้านบาท ทำไมไม่ช่วยเหลือประชาชนเลย เพราะกระทรวงการคลังถือหุ้น ปตท. 61% เท่ากับรัฐถือหุ้นครึ่งหนึ่งแล้ว ดังนั้นหากช่วยเหลือได้จะสร้างความภูมิใจให้กับประชาชน และรัฐบาลจะได้ใจประชาชนไป แต่รัฐบาลกลับไม่ทำ ขณะที่ต้นทุนน้ำมันเราทราบอยู่แล้ว ปัจจุบันเราเติมน้ำมัน 100 บาท ต้องเสียภาษี 27-30 บาท ซึ่งในภาวะโควิด-19 รัฐบาลทำกับประชาชนแบบสมควรแล้วหรือไม่
ด้าน นายณัฏฐ์ ธีรณัฐสุภานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการธรรมาภิบาลแห่งชาติ ในฐานะรักษาการประธาน กล่าวว่า... เข้าใจความเดือดร้อนของผู้ประกอบการขนส่งทางบกและทางเรือ ที่มีต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการประกอบธุรกิจ ข้อเรียกร้องจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้เร็วที่สุด ส่วนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนภาคขนส่งนั้น เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายพลังงานเชื้อเพลิงหลายฉบับ และมีกระทรวงที่เกี่ยวข้องหลายกระทรวง ทั้งนี้ผู้ประกอบการเป็นฐานของเศรษฐกิจของประเทศ ฉะนั้นความเดือดร้อนไปสู่การปฏิบัติให้เร็วที่สุดต่อไป