ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ เป็นอีกหนึ่งวิกฤตที่ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญ เช่นเดียวกับปัญหาโลกร้อน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ซึ่งหากเราทุกคนไม่เริ่มลงมือ “เปลี่ยน” ตั้งแต่วันนี้เพื่อกอบกู้โลก วิกฤตต่าง ๆ ก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกวัน
“วิโรจน์ คำนนท์” คนรุ่นใหม่จากพื้นที่ตำบลบ้านสา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง บอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแล้งเป็นสุขล้นของชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ ด้วยองค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ ทำให้ป่าสีน้ำตาลที่เกิดจากการเผาไหม้ของไฟป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ ชุมชนมีอาชีพและมีรายได้อย่างยั่งยืนไว้อย่างน่าสนใจ ภายในงาน “SCG ESG Pathway เริ่มด้วยกัน เพื่อเรา เพื่อโลก” ที่เอสซีจีตั้งใจร้อยทุกความร่วมมือก้าวไปกับทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาตามแนวทาง ESG
ในอดีตชุมชนบ้านสาต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งขาดน้ำอย่างหนักในฤดูแล้ง จนไม่สามารถทำการเกษตรได้เลย และในช่วงฤดูฝนที่เป็นโอกาสเดียวสำหรับการเพาะปลูกในรอบปี แต่บ่อยครั้งต้องเจอกับปัญหาน้ำหลากท่วมพื้นที่ทำการเกษตรเสียหาย ทำให้ชุมชนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ หรือคนหนุ่มสาวยอมทิ้งถิ่นเกิดไปหางานทำในเมืองใหญ่
“ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายในชุมชน เมื่อก่อนที่บ้านสาทำการเกษตรได้ปีละครั้งเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น พอถึงฤดูแล้งก็แล้งจนไม่มีน้ำใช้ เพราะไม่สามารถกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนเอาไว้ใช้ได้ แถมยังเจอปัญหาน้ำหลากท่วมพื้นที่ทำการเกษตรซ้ำอีก เรียกว่าไม่มีความพอดี บางทีก็น้ำขาด บางทีก็น้ำเกิน ซึ่งความแห้งแล้งทำให้เกิดปัญหาไฟป่าขึ้น 100 ครั้งต่อปี ผมย้ำว่าทุกคนฟังไม่ผิดที่บ้านสาเกิดไฟไหม้ปีละ 100 ครั้ง จนพื้นที่ป่าชุมชนของเรากลายเป็นสีน้ำตาล” วิโรจน์ เล่าถึงสถานการณ์ของชุมชนในวันวาน
จุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงของชุมชนแม่สา เกิดขึ้นเมื่อเอสซีจี ปูนลำปางได้เข้ามาให้องค์ความรู้กับชุมชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ และร่วมกันฟื้นฟูอนุรักษ์ป่า รวมทั้งยังชวนอีกหลายชุมชนมาทำฝายชะลอน้ำ ซึ่งฝายจะเป็นตัวดักตะกอนและช่วยกักเก็บน้ำ อุ้มน้ำให้อยู่ในป่าและลำห้วยได้นานมาก ดังนั้น เมื่อมีฝายจึงทำให้ป่าไม้ที่เคยเป็นสีน้ำตาลเพราะการเผาไหม้ของไฟป่าเริ่มกลายเป็นสีเขียวมีความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันชุมชนได้ทำการต่อยอดบริหารจัดการน้ำ โดยใช้แนวคิดสร้างแหล่งกักเก็บน้ำในฤดูฝน เพื่อนำไปใช้ในฤดูแล้ง มีโครงการดี ๆ มากมาย เช่น สระพวง แก้มลิง ฝายใต้ทราย วังเก็บน้ำ รวมถึงการสร้างบ่อพวงคอนกรีต และกระจายสู่พื้นที่การเกษตรด้วยการวางระบบท่อเอชดีพีอี
การบริหารจัดการน้ำจนมีทั้งป่าที่เขียวชอุ่มและเลิกแล้ง ไม่เพียงทำให้ชุมชนสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้เพียงพอในการเลี้ยงชีพเท่านั้น แต่ที่สำคัญความสัมพันธ์ในครอบครัวและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้นตามลำดับ ลูกหลานคนรุ่นใหม่ที่ออกไปทำงานต่างถิ่นเริ่มกลับคืนมาร่วมกันพัฒนาชุมชน ได้ประกอบอาชีพและอยู่ดูแลพ่อแม่ หลายครอบครัวต่อยอดไปทำเกษตรประณีต เริ่มทำเมล็ดพันธุ์จำหน่ายสร้างเงินให้กับชุมชนเป็นหลัก 10-20 ล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในชุมชนดีขึ้น
“ผมในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่และเป็นกลุ่มละอ่อนข้าวก้นบาตร ได้ชวนน้อง ๆ ในชุมชนมาร่วมทำกิจกรรม เช่น การทำฝาย และอนุรักษ์ดินน้ำป่า ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพื่อหวังว่าให้เด็ก ๆ มีจิตสำนึกและรักถิ่นบ้านเกิด หวงแหนทรัพยากรที่อยู่ในชุมชน เป็นการทำด้วยจิตอาสา ไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ เด็กกลุ่มนี้เห็นว่าสิ่งที่เราทำ ไม่ได้เสียประโยชน์ เพราะได้เห็นว่าพื้นที่ป่าของเราสามารถเป็นซุปเปอร์มารเก็ตให้กับชุมชนได้ สุดท้ายนี้ ผมและกลุ่มละอ่อนข้าวก้นบาตร หวังว่าเราจะเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้กับทุกชุมชนที่ต้องการพัฒนาชุมชนของตนเองให้มีความสุขเหมือนกับชุมชนของผม พร้อมขอทิ้งท้ายว่า อย่ารักธรรมชาติด้วยความรู้สึก แต่จงสร้างจิตสำนึกด้วยการกระทำ” วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย
เกษตรกรในประเทศไทยเป็นกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าอาชีพอื่น ๆ ทำให้ความเหลื่อมล้ำของรายได้ในกลุ่มเกษตรกรสูงเป็นอันดับต้น ๆ ทั้งที่ภาคเกษตร เป็นฐานรากที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญของครัวเรือนในชนบท แต่ยังทำหน้าที่เป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับคนทั้งประเทศและทั้งโลก รวมทั้งเป็นแหล่งรองรับแรงงานที่ใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะในยามที่ประเทศประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำของรายได้ของภาคเกษตรจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง
#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย