วันที่ 22 ธันวาคม 2564 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำโดย รศ.ดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์ ประธานคณะทำงานดำเนินการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านสัตว์เศรษฐกิจ ยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ และคณะทำงานฯ ลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมการวิจัย ภายใต้แผนงานวิจัย พัฒนา และขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะภาคใต้ พ.ศ. 2563-2565ของคณะนักวิจัย คณะทรัพยากรธรรมชาติ แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผศ.ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ คณะบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ.ในฐานะผู้อำนวยการชุดโครงการวิจัยฯ เปิดเผยว่าแพะนับว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกของเกษตรกร เป็นส่วนหนึ่งในศาสนาและวัฒนธรรมของคนในภาคใต้ แต่ปัจจุบันการบริโภคไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามอีกต่อไปโดยใน หลายพื้นที่เปิดรับและต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์จากแพะมากขึ้น จึงได้มีการจัดทำงานวิจัย พัฒนา และขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะภาคใต้ ขึ้นงานวิจัยจะตอบโจทย์ปัญหาการเลี้ยงแพะภาคใต้ได้ ด้วยองค์ความรู้ด้านรูปแบบการจัดการการเลี้ยงแพะ ระบบอาหาร การปรับปรุงและการผสมพันธุ์ รวมทั้ง การจัดการโรคในแพะ รวมทั้งบรรเทาปัญหาการว่างงาน จากสถานการณ์โรคโควิด-19 พร้อมกระตุ้นการบริโภคแพะในภาคใต้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังสามารถลดการนำเข้าแพะจากภูมิภาคอื่น และเพิ่มโอกาสการส่งออกแพะไปต่างประเทศ ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยได้สะท้อนปัญหาอุตสาหกรรมแพะที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ได้แก่ แพะที่เลี้ยงมีจำนวนไม่เพียงพอ ขาดการรับรองคุณภาพ เกษตรกรใช้วิธีการการเลี้ยงแบบดั้งเดิม ขาดข้อมูลทางการตลาดและการประยุกต์นำผลพลอยได้ทางการเกษตรมาใช้ยังมีน้อย อีกทั้งการเผชิญกับโรคที่ติดจากแพะสู่คน คือ โรคเมลิออยโดสิส ขาดพันธุ์แพะพื้นฐานที่เหมาะสมกับผู้เลี้ยงรายย่อย ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความรู้และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงและขยายพันธุ์ กระทบไปยังการแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำนมแพะที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ในพื้นที่ ยังคงเน้นการส่งเสริมเฉพาะด้านเลี้ยงแพะเพียงอย่างเดียว ไม่ครอบคลุมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแพะภาคใต้
จากปัญหาที่เกิดขึ้นสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สนับสนุนงบประมาณการวิจัย เพื่อตอบโจทย์ และขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะภาคใต้ให้เป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์ และช่วยกระตุ้นการบริโภคผลิตภัณฑ์จากแพะเพิ่มมากขึ้น ดำเนินการภายใต้ 7 กิจกรรม คือ การสำรวจศักยภาพทางการตลาดและการจัดการห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแพะในภาคใต้ การสำรวจการเลี้ยงแพะนมและการผลิตนมแพะของเกษตรกรภาคใต้ตอนล่าง การพัฒนานวัตกรรมอาหารผสมสำเร็จจากเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรและอุตสาหกรรม การค้นหาจีโนไทป์เครื่องหมายโมเลกุลสนิปแบบทั่วทั้งจีโนมด้วยเทคโนโลยี Genototyping-by-sequencing (GBS) เพื่อจำแนกอัตลักษณ์จำเพาะ และปรับปรุงพันธุกรรมแพะพันธุ์ “ทรัพย์ ม.อ.” ได้แก่ แพะพื้นเมือง แพงแองโกลนูเบียนพันธุ์แท้ และทรัพย์ ม.อ.1 การผลิตน้ำเชื้อแช่แข็ง ผสมเทียมโดยวิธีลาพาโลสโคป เพื่อขยายจำนวนประชากรแพะในพื้นที่อย่างน้อย 2,000 โดยคาดว่าจะมีเกษตรผู้เลี้ยงแพะรายใหม่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำ 200 รายตัว รวมทั้งยังช่วยลดการนำเข้าแพะจากภูมิภาคอื่น ๆ และเพิ่มโอกาสการส่งออกแพะไปประเทศเพื่อนบ้านได้ การเตรียมพัฒนาชุดทดสอบเพื่อวิเคราะห์โรคเมลิออยโดสิสในแพะ และการจัดทำห้องปฏิบัติการวิเคราะห์น้ำนม และการแปรรูปน้ำนม GMP ให้เกษตรกรใช้เป็นตัวอย่างต่อไป
ขณะที่ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ได้สนับสนุนทุนวิจัย โครงการพัฒนาโรงฆ่าแพะฮาลาลต้นแบบเพื่อส่งเสริมการผลิตเนื้อแพะคุณภาพดีในภาคใต้ตอนล่าง กิจกรรมและสื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงแพะและการบริโภคผลิตภัณฑ์จากแพะ โดยผลงานที่ให้การสนับสนุนในครั้งนี้ จะสามารถตอบโจทย์ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงแพะในภาคใต้ได้ ช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะได้รับความรู้จากโครงการวิจัย ที่ครอบคลุมการพัฒนาทั้งด้านจัดการระบบเลี้ยง ระบบอาหาร เกิดการพัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมกับแพะโดยใช้ผลพลอยได้ทางการเกษตร อันเป็นการลดต้นทุน การปรับปรุงและผสมพันธุ์ เพื่อให้เกษตรกรมีพันธุ์แพะที่ดี และการจัดการเรื่องโรคในแพะ อีกทั้ง การส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์ อาทิ
เนื้อแพะ นมแพะ น้ำหอมจากขนแพะ ซึ่ง วช. และหน่วยงานมหาวิทยาลัยชั้นนำของภาคใต้ ได้วางแผนที่จัยยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้และผลงานการวิจัยเพื่อยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในครั้งนี้ ที่จะช่วยหนุนเสริมให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้และประเทศได้อย่างมั่นคงต่อไป
Maggi รายงาน