กรมอนามัย เผย เนื้อจระเข้โปรตีนทางเลือก แนะปรุงสุกก่อนกินทุกครั้ง ลดปนเปื้อนแบคทีเรีย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงที่เนื้อหมูราคาเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มหันมาให้ความสนใจบริโภคเนื้อจระเข้ เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกมากขึ้น ซึ่งเนื้อจระเข้ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการเพาะเลี้ยงจระเข้นั้นทำได้โดยไม่ต้องสัมผัสกับสารเคมีอันตราย แต่เนื่องจากจระเข้จัดอยู่ในประเภทสัตว์เลื้อยคลาน อาจมีแบคทีเรียปนเปื้อน เช่น เชื้อซัลโมเนลลา ทำให้เกิดโรค เช่น ไทฟอยด์ ท้องร่วง และความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร จึงควรล้างมือ และอุปกรณ์ทุกครั้งก่อนแปรรูปเนื้อสัตว์เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของแบคทีเรีย และปรุงสุกในทุกเมนู งดการกินสุก ๆ ดิบ ๆ
“สำหรับการเลือกซื้อเนื้อจระเข้ที่มีขายตามท้องตลาด ควรเลือกเนื้อจากส่วนหาง (บ้องต้น) ถือเป็นส่วนที่ดีที่สุด เนื้อที่ดีควรสดมีสีทึบ ไม่มีกลิ่นเหม็น และควรเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เมื่อต้องจัดเก็บ ควรเก็บในช่องแช่แข็ง หรือตู้เย็น โดยตู้เย็นรักษาอุณหภูมิตั้งแต่ 5 ถึง 0 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าจัดเก็บที่อุณหภูมิ -4 ถึง 0 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บได้นานเพิ่มขึ้น หากต้องการเก็บไว้นานกว่านั้นควรช่องแช่แข็งอุณหภูมิตั้งแต่ -12 ถึง -8 องศาเซลเซียส เก็บรักษาได้ 2-4 เดือน ถ้าแช่แข็งตั้งแต่ -24 ถึง -18 องศาเซลเซียส เก็บรักษาได้ 10-12 เดือน การแช่แข็งผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้อง เนื้อสดจะต้องถูกตัดเป็นส่วน ๆ ห่อด้วยกระดาษฟอยล์ฟิล์มยืดหรือกระดาษพาร์ชเมนท์ เนื้อห่อใส่ถุงแล้วนำไปแช่ตู้เย็น ไม่ควรล้างเนื้อสัตว์ก่อนนำไปแช่แข็งเพราะจะทำให้อายุการเก็บสั้นลง แต่หากต้องการ ยืดระยะเวลาออกไปหลายวัน ให้ห่อด้วยกระดาษพาร์ชเมนท์เคลือบด้วยน้ำมันพืช และเมื่อต้องการละลายเนื้อสัตว์นั้น ควรใช้วิธีธรรมชาติเพื่อคงสารอาหารไว้ หลีกเลี่ยงการละลายเนื้อในน้ำเดือดร้อน”
ทางด้าน ดร.แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวเสริมว่า ด้านคุณค่าทางอาหาร เนื้อจระเข้มีพลังงานต่ำ ไขมันน้อย สามารถนำมาปรุงได้หลากหลายวิธี ตั้งแต่การต้ม เคี่ยวในน้ำซุป ไปจนถึงปิ้ง ย่าง ทอด และผัด การเลือกบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนผู้บริโภคควรเลือกบริโภคให้เหมาะกับตัวเอง เพราะเนื้อจระเข้กับสัตว์ประเภทอื่นนั้น มีคุณค่าทางโภชนาการ และราคาไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเนื้อจระเข้ 100 กรัม มีพลังงาน 99 กิโลแคลอรี โปรตีน 21.5 กรัม ไขมัน 2.9 กรัม และโคเลสเตอรอล 65 มิลลิกรัม และเมื่อนำมาเปรียบเทียบ กับเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ๆ ในปริมาณ 100 กรัม พบว่า 1) เนื้อหมู มีพลังงาน 107 กิโลแคลอรี โปรตีน 22.0 กรัม ไขมัน 2.0 กรัม และโคเลสเตอรอล 55 มิลลิกรัม 2) เนื้อไก่ มีพลังงาน 145 กิโลแคลอรี โปรตีน 22.2 กรัม ไขมัน 6.2 กรัม และโคเลสเตอรอล 62 มิลลิกรัม 3) เนื้อวัว มีพลังงาน 121 กิโลแคลอรี โปรตีน 21.2 กรัม ไขมัน 4.0 กรัม และโคเลสเตอรอล 51 มิลลิกรัม ดังนั้น ช่วงที่เนื้อหมูมีราคาแพงนั้น ผู้บริโภคอาจเลือกบริโภคอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีนชนิดอื่น เช่น ปลา ไข่ ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน และเพิ่มการบริโภคผัก ผลไม้หลากสี ดื่มนมเหมาะสมตามวัย เพื่อให้ได้รับอาหารครบหมู่