อพท. ติดอาวุธท้องถิ่น ยกระดับท่องเที่ยวยั่งยืนสู่มาตรฐานโลก
อพท. มอบประกาศนียบัตร STMS ให้ 8 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รับหน้าที่ขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เน้นแนวทางการปรับตัวและเตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยว ภายใต้สถานะการณ์การแพร่ระบาดของโควิด- 19 อนาคตเตรียมยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่พิเศษให้เพิ่มขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานยกระดับมาตรฐานให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard: STMS) ในปี 2564 มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถปฏิบัติได้ตามเกณฑ์มาตรฐานจำนวน 8 แห่ง จาก 4 จังหวัดในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว ได้แก่ 1. เทศบาลตำบลหัวไทร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช 2. เทศบาลตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง 3. เทศบาลเมืองพัทลุง อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง 4. เทศบาลนครสงขลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา 5. องค์การบริหารส่วนตำบลคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา 6. องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 7. เทศบาลเมืองแจระแม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และ 8. องค์การบริหารส่วนตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
โดย อพท. ได้จัดพิธีมอบประกาศนียบัตร การส่งเสริมมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ในวันที่ 25 มกราคม 2565 ส่งผลให้ปัจจุบัน อพท. มีองค์กรที่เป็นภาคีเครือข่าย และปฏิบัติได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน STMS แล้วจำนวนถึง 70 องค์กร
“แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว แต่การทำงานของ อพท. ในการส่งเสริมมาตรฐาน โดยเฉพาะการจัดการด้านความปลอดภัย ก็ได้มุ่งเน้นไปที่มาตรการ แนวทาง การปรับตัวและเตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยว ภายใต้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขององค์กรที่เข้าร่วมโครงการเป็นสำคัญ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว และส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้ในภาคการท่องเที่ยว และชุมชนท้องถิ่น” ผู้อำนวยการ อพท. กล่าว
ทั้งนี้ อพท. หวังที่จะยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยใช้มาตรฐาน STMS เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวและเกิดการประสานความร่วมมือกันระหว่าง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีอำนาจหน้าที่ในบริหารจัดการการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก อพท. เล็งเห็นศักยภาพจึงได้พัฒนา STMS เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนร่วมกันกับองค์กรระดับท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวและมีความสำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยมาตรฐาน STMS นี้ได้รับการรับรองว่าเทียบเท่ากับหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสำหรับสถานที่ท่องเที่ยวโดยสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council : GSTC) ซึ่งเป็นองค์กรระดับสากล
อย่างไรก็ตามปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติได้ตามมาตรฐาน STMS คือ ความมุ่งมั่นของบุคลากรในทุกระดับ โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นที่จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและสนับสนุนการดำเนินงานอย่างจริงจัง และยังสามารถนำไปบูรณาการเข้ากับภารกิจหลักที่มีอยู่เดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้แก่องค์กรได้ด้วย
ทางด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้เข้ารับมอบประกาศนียบัตรในกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า จะนำองค์ความรู้ด้านมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ STMS ที่ได้รับจาก อพท. ไปใช้พัฒนาพื้นที่และชุมชนในท้องถิ่นให้มีความรู้ เพื่อยกระดับการจัดการและการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่เป็นมาตรฐาน ชุมชนมีแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ นอกจากนั้นยังยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับ อพท. เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนต่อไป