การประชุมนานาชาติ THA2022 แนะการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
ปรับใช้ระบบนิเวศตามธรรมชาติ พร้อมเร่งส่งเสริมเกษตรกรให้มีควารู้ การจัดการธาตุอาหาร การใช้น้ำ และพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า งานประชุมระดับนานาชาติในหัวข้อเรื่อง “การมุ่งสู่การจัดการน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนหลังโควิด-19” หรือ THA 2022 International Conference on Moving Towards a Sustainable Water and Climate Change Management After COVID-19 จะช่วยให้เกิดการการรวบรวมความรู้ ประสบการณ์ ปัจจุบัน และแนวโน้ม แนวคิดล่าสุดในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการน้ำ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งการเผยแพร่งานวิจัยและความรู้จากการวิจัยระหว่างนักวิชาการของไทย และเอเชีย เกิดการการสร้างเครือข่ายนักวิจัยทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศละการจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืน และการเผยแพร่งานและการบริหารงานวิจัย สู่นักวิชาการในอาเซียนและเอเชีย ซึ่งประเทศไทยจะสามารถใช้เวทีการประชุมนี้เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำ ภัยพิบัติ และการพัฒนาที่ยั่งยืนกับนานาประเทศ และเป็นการพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและบุคลการด้านน้ำให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้ประเทศไทยและโลกพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ประชากรไทยและประชากรโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ทั้งนี้ จากการการอภิปรายมีการสรุปความก้าวหน้าของการบริหารจัดการน้ำภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแนวทางต่อไป โดยเริ่มจาก Prof. Taikan Oki, The University of Tokyo นำเสนองานวิจัยโครงการ ADAP-T เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำภายใต้ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยต่อประเด็นด้านน้ำ ชายฝั่ง ตะกอน และภาคชนบท โดยเชื่อมโยงด้านเทคนิคสู่ด้านนโยบาย (co-design) ร่วมกับกรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ โดยเน้นร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่และคนรุ่นใหม่
ขณะที่ Dr. Klaus Schmitt จาก GIZ ได้เสนอการปรับตัวโดยใช้ระบบนิเวศตามธรรมชาติ โดยใช้ตัวอย่างของประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนาม และยกตัวอย่างการใช้ป่าชายเลนในการช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่งที่เป็นดินโคลน ประเด็นที่สำคัญคือ ใช้มาตรการการปรับตัวโดยใช้ระบบนิเวศตามธรรมชาติ ให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ ทั้งวิธีการและขนาดของปัญหา และควรมีการศึกษาวิจัยประกอบเพื่อหาความเหมาะสม
Prof. Sangam Shrestha จาก AIT ได้นำเสนอความก้าวหน้าของสถานะของ SDGs รวมถึงประเด็นที่สำคัญในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ที่ได้รับผลกระทบทั้งจากธรรมชาติ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบจากมนุษย์ เช่น การบริหารจัดการเขื่อนพลังงานน้ำและการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน Prof. Sangam สรุปว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของ SDGs ในอนาคต งานวิจัยจะมีส่วนเสริมให้เราปรับตัวต่อผลกระทบนี้ได้ดียิ่งขึ้น
Dr. Zaki จากมาเลเซีย ได้เสนอแนวทาง “ Water Sector Transformation ” ภายใต้แผนการพัฒนาของประเทศมาเลเซีย เพื่อเร่งการใช้ IWRM เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย SDGs ผ่านกระบวนการเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำและใช้น้ำเพื่อโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยครอบคลุมมิติของ คน โครงสร้าง ข้อมูล การเงิน และธรรมาภิบาล และสรุปว่า การบริหารจัดการน้ำในอนาคตจะมีความยุ่งยากมากขึ้นภายใต้ความไม่แน่นอนในอนาคต ทั้งด้านภูมิอากาศและจากกิจกรรมของมนุษย์ การวางแผนที่เชื่อมโยงกัน ให้สามารถปรับตัวกับความไม่แน่นอนเหล่านี้ เป็นประเด็นที่สำคัญของมนุษยชาติ
ด้าน Dr.Benoit Bosquet จากธนาคารโลก บรรยายในหัวข้อ Water Disaster Management Towards SDG and Post Covid โดยระบุว่า ธนาคาดโลกได้ดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนาระบบสุขาภิบาลและชลประทาน การพัฒนาแผนงานและรายงานต่างๆ เช่น Climate Change Action Plan (CCAP) และ Country Climate Development Report (CCDR) การสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะในนาข้าวซึ่งเป็นแหล่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยาการในปริมาณสูง การส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้เกี่ยวกับการจัดการธาตุอาหารหรือการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมแก่ข้าว การใช้น้ำและพลังงานอย่างมีประสิทธภาพ จะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการปลูกข้าวได้
Mr.Christophe Bahuet จาก UNDP บรรยายในหัวข้อ Water Management under Climate Change เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบอย่างกว้างขวางต่อทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นสังคมและเศรษฐกิจรวมถึงการจัดการน้ำด้วย การใช้มาตรการการเงินสามารถเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยระดมทุนเพื่อมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อภัยพิบัติได้
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บรรยายในหัวข้อ Water Management in Thailand and Towards SDG กล่าวว่า การจัดการน้ำในประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะ SDG 6 จากการประเมินการดำเนินงานเทียบกับ SDG 6 พบว่า ยังคงมีประเด็นความท้าทายด้านคุณภาพน้ำ มูลค่าน้ำ การเพิ่มประสิทธิการใช้น้ำเชิงเศรษฐกิจ และการจัดการเชิงบูรณาการ
อย่างไรก็ตาม จากการจัดการประชุมระดับนานาชาติในหัวข้อเรื่อง “ การมุ่งสู่การจัดการน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนหลังโควิด-19 ” ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนหลังโควิด-19 และเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาของโลกให้บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) นั่นเอง