นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วย นายโกเมศ ปิยะพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสตูล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฉลุง และสื่อมวลชนจังหวัดสตูล ลงพื้นที่ในกำลังใจ นายอับดลรอหมาน หลังปูเต๊ะ อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 123 หมูที่1 ต.ฉลุง อ.เมือง จ.สตูล เจ้าของฟาร์มเลี้ยงกระต่ายพันธุ์เนื้อ เพื่อการบริโภค
นายอับดลรอหมาน หลังปูเต๊ะ เจ้าของฟาร์มกระต่ายเนื้อสตูล กล่าวว่า ส่วนตัวตนชอบกินเนื้อกระต่าย เมื่อครั้งเรียนที่ประเทศอินโดนีเซียก็ชอบรับประทานอาหารจากเนื้อกระต่าย เพราะเป็นสัตว์ที่มีโภชนาการค่อนข้างสูง และเป็นสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกอีกทางหนึ่ง ซึ่งคนไทยไม่ค่อยทำกัน ช่วงโควิด-19 เป็นช่วงวิกฤติที่หลายคนประสบมาอาชีพ อย่างอื่นต้องชะงักหมดซึ่งตนเองทำอาชีพเขียนโปสเตอร์ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ตนจึงคิดพัฒนาการเลี้ยงกระต่ายสายเนื้อ ตอนนี้ขายทางออนไลน์ มีลูกค้าสั่งซื้อทั้งในจังหวัดสตูล จังหวัดทางภาคอีสาน และภาคเหนือ
เดิมที่ได้ซื้อพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์กระต่าย 3 - 4 สายพันธุ์ซึ่งเป็นลูกผสมพันธุ์เนื้อ (นิวซีแลนด์ไวท์ ไจแอนท์ แคลิฟอร์เนีย ดำภูพาน ลูกผสมไทย กระต่ายพื้นเมือง และสายพันธุ์ที่ PL สายพันธุ์ไทย พัฒนาโดยคนไทย และเนื่องจากกระต่ายสามาถขยายพันธุ์ได้รวดเร็วและคลอดลูกออกมาแต่ละครั้งหลายตัว ในปัจจุบันที่ฟาร์มเลี้ยงกระต่าย สามารถขยายพันธุ์จนมีกระต่ายเนื้อกว่า 100 ตัว โดยมีชื่อว่าฟาร์ม กระต่ายเนื้อสตูลสำหรับการเลี้ยงกระต่ายพันธุ์เนื้อตั้งแต่คลอดลูกมาใหม่ๆจนกระทั่งถึงเวลานำเนื้อมารับประทานใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ซึ่งกระต่ายมีน้ำหนักประมาณ 2 - 2.50 กก. ก็สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้แล้ว และในช่วงเดือนใกล้รอมฎอนนี้ ทางฟาร์มได้เตรียมกระต่ายเนื้อไว้ 100 ตัวเพื่อจำหน่าย
ด้านนายโกเมศ ปิยะพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสตูล กล่าวด้วยว่า ในส่วนของสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสตูล เข้ามาดูแลในเรื่องของกระบวนการเพาะเลี้ยงกระต่ายโดยเฉพาะเรื่องของโครงสร้าง ตัวโรงเรือน กรงกระต่าย แปลงหญ้า ว่าสามารถนำเทคโนโลยีประเภทไหนเข้ามาช่วยเหลือในได้บ้าง และในเบื้องต้นจะดูในเรื่องของระบบโซล่าเซลล์ที่ช่วยให้แสงสว่าง การควบคุมอุณหภูมิของโรงเรือนอาจจะใช้ระบบ smart control เพื่อมาควบคุมอุณหภูมิของโรงเรือน และการทำแปลงหญ้าอาจจะใช้ระบบให้น้ำอัตโนมัติ ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาไปควบคุมโดยสมาร์ทโฟน ส่วนกระบวนการเพาะเลี้ยง และกระบวนการแปรรูป จะมาดูว่าผลิตภัณฑ์ที่จะแปรรูป สามารถแปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง และช่องทางการจำหน่ายสินค้าก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมต่อไปในอนาคต//สนง.ปชส.จังหวัดสตูล