ทุกวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันสงกรานต์ และวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งผู้สูงอายุ ถือเป็นบุคคลที่คนไทยให้ความเคารพและให้ความสำคัญ เพราะถือเป็นต้นแบบเริ่มต้นของครอบครัว ดังนั้น วช. จึงได้สนับสนุนนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ นำ “อุปกรณ์เสริมสำหรับเก้าอี้รถเข็น ขึ้นลงทางลาด” ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือผู้สูงวัย เข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ จนได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ ที่สมาพันธรัฐสวิส ในอนาคตสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ จะเข้ามาช่วยลดภาระของผู้ดูแลในการช่วยเหลือผู้สูงอายุอีกทางหนึ่งด้วย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ถือเป็นความภาคภูมิใจ ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนสิ่งประดิษฐ์ “อุปกรณ์เสริมสำหรับเก้าอี้รถเข็น ขึ้นลงทางลาด” ของ นางสาววริษฐา มโนรถจตุรงค์ นักเรียนโรงเรียนร่วมฤดีวิเทศ และนายจีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ อาจารย์โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม เข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ในงาน Inventions Geneva Evaluation Days – Virtual Event ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นตลอดช่วงเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา จนสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศมาครองได้สำเร็จ
นางสาววริษฐา มโนรถจตุรงค์ นักเรียนโรงเรียนร่วมฤดีวิเทศ เปิดเผยว่า สิ่งประดิษฐ์ “อุปกรณ์เสริมสำหรับเก้าอี้รถเข็น ขึ้นลงทางลาด” เกิดจากการสังเกตเห็นว่า เวลาเข็นรถเข็นให้คุณย่า ขึ้นทางลาด คุณย่าก็จะหงายมาด้านหลังเยอะ ต้องเขยิบตัวให้นั่งตัวตรงขึ้น ซึ่งเวลาที่เข็นลงทางลาดชันมาก ๆ คุณย่าจะพยายามถอยหลัง เพราะรู้สึกว่ากลัวหล่นไปด้านหน้า หากทางชันมาก ๆ ไม่จับรถเข็นดี ๆ รถเข็นอาจจะคว่ำหน้าขึ้นมาได้ จึงเริ่มศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับทางลาดชัน ซึ่งทางลาดชันที่เหมาะสมกับผู้ใช้รถเข็น ควรอยู่ที่ไม่เกิน 5 องศา จากที่สังเกตุในหลาย ๆ ที่ ไม่ได้ทำตามมาตรฐาน อีกทั้งรถเข็นที่ขายกันอยู่ในท้องตลาดไม่สามารถปรับกลไกการทำงานตามความลาดชันได้ จึงจำเป็นต้องมีการยกล้อหน้า หรือกดล้อหน้าลง และปรับถอยล้อหลังเพื่อปรับจุดศูนย์ถ่วง
นางสาววริษฐา มโนรถจตุรงค์ นักเรียนโรงเรียนร่วมฤดีวิเทศ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการช่วยคุณย่า และผู้สูงอายุ จึงเริ่มลงจะมือประดิษฐ์ “อุปกรณ์เสริมสำหรับเก้าอี้รถเข็น ขึ้นลงทางลาด” โดยเริ่มจากประดิษฐ์
ชุดอุปกรณ์เสริมสำหรับล้อ (ทั้งล้อหน้าและล้อหลัง) นำมาติดตั้งเข้ากับชุดยืดแกน (linear actuator) ด้วยการเชื่อม และยึดด้วยน็อต ส่วนชุดอุปกรณ์เสริมสำหรับล้อหน้าถูกติดตั้งกับเก้าอี้รถเข็นแทนที่แกนล้อหน้าเดิมเพื่อให้ล้อหน้าปรับตำแหน่งได้ในแนวตั้ง และชุดอุปกรณ์เสริมสำหรับล้อหลังถูกติดตั้งแทนที่แกนยึดล้อหลังเพื่อให้ล้อหลังปรับตำแหน่งในแนวนอน จุดเด่นของอุปกรณ์เสริมสำหรับเก้าอี้รถเข็น ขึ้นลงทางลาด คือการใช้อุปกรณ์ไฮดรอลิคในการปรับความสูงขึ้นลงที่ล้อหน้า และปรับถอยล้อหลังออกไปเพื่อปรับจุดศูนย์ถ่วง โดยกดปุ่มเพียงปุ่มเดียวที่ติดตั้งไว้บริเวณที่วางแขน แบตเตอรี่ที่เลือกใช้ เป็นลิเธียมไอออน สามารถถอดออกได้เมื่อต้องขึ้นเครื่องบิน โดยแยกแบตเตอรี่ไว้กับตัวแล้วโหลดรถเข็นลงใต้เครื่อง ใช้งานง่าย แค่เสียบปลั๊กไฟบ้าน
หากต้องการปรับแต่งรถเข็น ก็เพียงซื้อชุดอุปกรณ์ดัดแปลงเข้ากับรถที่มีอยู่แล้ว ส่วนการใช้งาน กดปุ่มตรงที่วางแขนเพื่อปรับความสูงของล้อ เมื่อจะขึ้นทางลาดให้กดปุ่มล้อหน้าให้ต่ำลง และเมื่อจะลงทางลาดให้กดปุ่มล้อหน้าให้สูงขึ้น โดยระบบจะดันล้อหลังไปด้านหลังเพื่อย้ายจุดศูนย์ถ่วง และเมื่ออยู่ในทางปกติให้กดปุ่มเพื่อให้ล้อหน้าและล้อหลังกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิม
ปัจจุบันสิ่งประดิษฐ์ “อุปกรณ์เสริมสำหรับเก้าอี้รถเข็น ขึ้นลงทางลาด” เป็นเพียงต้นแบบ เพราะยังไม่สามารถรับน้ำหนักได้มาก แต่ทั้งนี้ผู้ประดิษฐ์ได้นำไปทดลองใช้กับคนที่ยังมีน้ำหนักไม่มาก โดยนำไปทดลองใช้กับทางลาดตามสถานที่ต่างเพื่อให้ได้ความลาดชันที่หลากหลาย ซึ่งในอนาคตมีแผนอยากจะต่อยอดให้ใช้งานได้จริง โดยจะใช้อุปกรณ์ที่แข็งแรงขึ้น เพื่อรับน้ำหนักผู้นั่งให้ได้มากขึ้น และแยกฟังก์ชันการทำงานของล้อหน้า-ล้อหลัง เพิ่มเซนเซอร์ตรวจจับความลาดชันเพื่อให้รถเข็นปรับระนาบให้ผู้นั่งได้เอง เพิ่มเติมเรื่องความปลอดภัย เช่น ระบบเบรคห้ามล้อ การหมุนล้อเองหากผู้ใช้ไม่มีผู้ช่วยเข็น อีกด้วย