วันที่ 5-6 พฤษภาคม ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยน บทบาทภาคประชาสังคมกับการขับเคลื่อนสันติภาพ จชต. ของนักศึกษาหลักสูตร การเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่12 (สสสส.) สถาบันพระปกเกล้า โดยมีนายวิทวัส ชัยภาคภูมิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล พร้อมคณาจารย์
และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยน ถึงแนวทางการแก้ปัญหาและสร้างสันติสุข ในจังหวัดชายแดนใต้อย่างยั่งยืน
นายมูฮัมหมัด อายุบปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ชุดที่ 6 กล่าวถึงการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ว่า ปี 2554 มี 36 องค์กร โดยสถาบันพระปกเกล้า ได้ส่งเสริมกระบวนการพูดคุยในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งส่งเสริมการพูดคุยทำข้อเสนอเชิงประเด็นจากภาคประชาสังคมให้กับส่วนกลาง และกลุ่มมาราปาตานีรับฟังความเห็นจากประชาชนทุก 3 เดือน โดยใช้หลักการถ่วงดุลโดยคนกลาง
ในรอบ 10 ปีมานี้ภาคประชาสังคมคือเด็กและผู้หญิงที่กำลังเติบโต มีบทบาทเดินหน้าผลักดันกระบวนการพูดคุยอย่างเป็นรูปธรรม การปรับตัวที่เห็นผลอย่างชัดเจนคือ ข้อตกลงรอมฎอน ที่มีกลไกติดตามมอนิเตอร์ประสบผลสำเร็จปราศจากการก่อความรุนแรง และพร้อมร่วมผลักดันวิสาขบูชาสันติ ร่วมกับพี่น้องไทยพุทธให้เป็นสัญลักษณ์แห่งการสร้างสันติสุขเชิงบวก ขยายไปให้ทั่วประเทศอีกด้วย
ด้านพระศิริจริยาลังการ รองเจ้าคณะภาค 18 กล่าวว่า บทบาทขององค์กรศาสนากับการเสริมสร้างสังคมสันติสุข ทางพุทธศาสนาส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่ค่อยมีองค์กรที่ทำหน้าที่สร้างสันติสุขอย่างเป็นทางการ จะมีก็แต่เจ้าคณะปกครองในพื้นที่เท่านั้น ซึ่งจะเชื่อมประสานกับภาคประชาชน โดยจัดตั้งในรูปของสมาคมหรือสมาพันธ์ อบรมพระธรรมทูตเฉพาะกิจใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในพื้นที่ของ ศอ.บต. มีเจ้าอาวาสเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาของ ศอบต. ร่วมกับศูนย์สันติวิธีของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมสันติสุขในเวทีเสวนาตั้งแต่ปี 2548 สร้างความร่วมมือผ่านสมาพันธ์ศาสนิกสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ผ่านกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในพื้นที่ เพื่อให้กลุ่มคนที่หลากหลายมารู้จักสัมพันธ์และเกิดเครือข่าย เสริมสร้างความเข้าใจระหว่างพี่น้องพุทธและมุสลิม
พระศิริจริยาลังการ กล่าวต่อว่า ปีนี้จะเริ่มต้นด้วยการจัดวิสาขสันติสุข ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาวันวิสาขบูชา จะเวียนเทียนตอนกลางวัน เนื่องจากกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัย จึงหยุดงานวิสาขบูชาไป หลังจากการทำงานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้บริบทเปลี่ยนไป ซึ่งปีนี้จะเริ่มต้นเวียนเทียนสองทุ่มเหมือนเช่นเดิม จะร่วมสร้างสันติสุขกลับคืนมาในจังหวัดชายแดนใต้
ทางด้าน พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เน้นย้ำการใช้สันติวิธีในการขจัดความขัดแย้ง สร้างสันติวัฒนธรรม มองด้วย ยถาภูตญาณทัศนะ คือมองให้เห็นความแตกต่างเป็นความสวยงาม เหมือนดอกไม้ต่างสี ส่งเสริมการสร้างสภาประชาธิปไตยตำบล 282 ตำบล บริหารความขัดแย้งด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมภาคีอาชีพต่างๆอีก 9 กลุ่ม โดยยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
ขณะที่ นายศรัทธา คชพลายุกต์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ภารกิจ ศอ.บต.หลักคือ การพัฒนาพื้นที่ แก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ขยายโอกาส บนพื้นฐานความเป็นธรรม โดยประสานงานกับหน่วยราชการต่างๆมีจุดมุ่งหมายจังหวัดภาคใต้มีความสงบสุขเป็นพื้นฐาน ศอ.บต. จึงดึงเอาศักยภาพของภาคใต้ออกมาในรูปแบบของการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีมาตรฐาน ทั้งในด้านสินค้าและงานบริการ
นางสมใจ ชูชาติ ผู้ใหญ่บ้านใน อ.ปะนาเระ กล่าวว่า บางครั้งหน่วยงานรัฐมองข้ามพื้นฐานซึ่งเป็นปัญหาหลักคือ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ซึ่งในพื้นที่ยังขาดนักวิชาการในด้านเศรษฐกิจเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง บางครั้งชาวบ้านไม่ได้รู้จักคำว่า สันติภาพ และไม่ได้ต้องการคำว่าสันติภาพอย่างเดียว แต่ต้องการเรื่องการกินดีอยู่ดีมีความสุข เป็นประเด็นหลักสำคัญที่ทิ้งไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากคณาจารย์ และนักศึกษาหลักสูตร การเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่12 (สสสส.) สถาบันพระปกเกล้า รับฟังข้อเสนอะแนะ และการแก้ปัญหาความขัดแย้งภาคใต้แล้ว ได้มอบอุปกรณ์กีฬา แก่ชุมชนไทยมุสลิม หน้ามัสยิดกรือเซะ พร้อมถวายสังฆทาน พร้อมมอบถุงยังชีพ ให้วัดช้างให้ และมูลนิธิเทพปูชนียสถาน (ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) โครงการปันน้ำใจช่วยพี่น้องไทยพุทธ-มุสลิม-จีน มอบแก่ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน และผู้ติดเชื้อโควิด-19
Maggi รายงาน