ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดจนกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิตของคนในสังคม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยภายใต้แผนงานวิจัยท้าทายไทย เรื่อง “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” ซึ่งมี รศ.ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อศึกษาถึงปัญหา สาเหตุ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในมิติต่าง ๆ รวมถึงบูรณาการแนวทางในการป้องกัน ซึ่งมีการต่อยอดข้อมูลพื้นฐานที่ได้จากการวิจัย และนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างแท้จริง
รศ.ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยประสบปัญหาความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยความรุนแรงได้พรากชีวิตผู้คนทั่วโลกไปมากกว่า 1.5 ล้านคนต่อปี ไม่ว่าจะมาจากอัตวินิบาตกรรม ความรุนแรงต่อสตรี เด็ก และบุคคลในครอบครัว การฆาตกรรม ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งรูปแบบต่าง ๆ และสงคราม ทีมวิจัยจึงทำการศึกษาเรื่อง “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 - 2563 ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. ภายใต้แผนงานวิจัยท้าทายไทย (ปีที่ 1) ซึ่งได้ดำเนินการสร้างฐานข้อมูลเบื้องต้น (base line) ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในสังคมไทยในมิติต่าง ๆ ทั้ง 3 ระดับคือ 1)ความรุนแรงต่อตนเอง 2)ความรุนแรงต่อบุคคล และ 3)ความรุนแรงระหว่างกลุ่ม รวมทั้งการแสวงหาเครื่องมือและแนวทางปฏิบัติที่ดีในการป้องกันและลดความรุนแรงในสังคมไทยเป็นสำคัญ
รศ.ดร.สุมนทิพย์ กล่าวว่า สำหรับโครงการฯ ในปีที่ 2 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. ในปี 2564 - 2565 ได้มีการนำองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยภายใต้แผนปีที่ 1 ไปสู่การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยร่วมกับหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงในสังคมไทย เพื่อมุ่งลดความรุนแรงในพื้นที่เป้าหมายที่ศึกษาเป็นสำคัญ ซึ่งได้มีการขับเคลื่อนแนวทางการลดความรุนแรงที่เป็นมาตรฐานสากล เช่น การเพิ่มขีดความสามารถของเพศหญิงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม การป้องกันการใช้ความรุนแรงหรือการล่วงละเมิดต่อเด็กและเยาวชน การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและความเชื่อ ซึ่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อสตรี โดยมีแนวทางในการดำเนินการฯ เช่น การจัดทำแคมเปญร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีภายใต้แนวทางการลดความรุนแรงที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การสหประชาชาติที่ได้เสนอกรอบแนวทางการลดความรุนแรง คือ การเคารพต่อความเท่าเทียมกันของสตรี (RESPECT) และการขับเคลื่อนแนวทางการสร้างความเคารพต่อความเท่าเทียมกันต่อสตรี (RESPECT) ในพื้นที่เทศบาลตำบลเกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปาง เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่มีความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อสตรีและความรุนแรงในครอบครัว
โดยปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวมีอัตราการเกิดความรุนแรงต่อสตรีและความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นน้อยลงกว่าร้อยละ 5 และโครงการจัดทำฐานข้อมูลและแผนที่ความรุนแรงในประเทศไทย (Thailand Violence Index) เพื่อเป็นฐานข้อมูลความรุนแรง (base line) ที่สำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย และช่วยขับเคลื่อนไปสู่การสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง
นอกจากนี้ ยังมีการขับเคลื่อนภายใต้บริบทของสังคมไทย ซึ่งได้มีการกำหนดเป้าหมายในการลดความรุนแรงในพื้นที่เป้าหมายที่ศึกษาเฉลี่ยร้อยละ 30 โดยร่วมกับหน่วยงานภาคปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง เช่น การร่วมมือกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570)
สำหรับจุดเด่นของโครงการวิจัยนี้ รศ.ดร.สุมนทิพย์ กล่าวว่า เป็นการวิจัยที่ครอบคลุมการสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรงใน 5 มิติ : 5P คือ ด้านนโยบาย (Policy) เช่น โครงการจัดทำฐานข้อมูลและแผนที่ความรุนแรงในประเทศไทย ด้านการป้องกัน (Prevention) เช่น การพัฒนาโปรแกรมจังหวัดต้นแบบด้านการป้องกันการฆ่าตัวตาย ด้านการให้การคุ้มครอง (Protection) เช่น การนำแนวทางปฏิบัติที่ดีไปใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้านการสร้างความเป็นหุ้นส่วน (Partnership) โดยการวิจัยเพื่อการสร้างการมีส่วนร่วมต่อภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรง และด้านการกำหนดแนวทางการดำเนินคดี(Prosecution) ได้แก่ มาตรการก่อนการดำเนินคดี คือ การพัฒนาเครื่องมือการไกล่เกลี่ยและแนวทางปฏิบัติในการจัดการความขัดแย้งเชิงสมานฉันท์ และมาตรการหลังการดำเนินคดี คือ โปรแกรมป้องกันการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังมิให้ก่ออาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง
จากแผนงานวิจัยได้มีการศึกษาการขับเคลื่อนแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมที่ประสบความสำเร็จและเห็นเป็นรูปธรรม คือ สามารถลดความรุนแรงในพื้นที่ที่ศึกษาได้มากกว่าร้อยละ 30 เช่น การลดความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงผ่าน “โครงการพลังเยาวชนสร้างสรรค์ ดึงความดีออกจากใจ...สู่สังคมไทยไร้ความรุนแรง” ในพื้นที่ ต.สะอาด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น การพัฒนาโปรแกรมจังหวัดต้นแบบด้านการป้องกันการฆ่าตัวตายใน 6 จังหวัดนำร่อง และการพัฒนาสถานศึกษาต้นแบบสานพลังความร่วมมือยุติการใช้ความรุนแรงของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งนำร่องในโรงเรียนอาชีวะ 9 แห่งในกรุงเทพและปริมณฑล
“การทำงานวิจัยในโครงการนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชน ในการขับเคลื่อนงานวิจัยซึ่งมีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ที่ผ่านมามีหน่วยงานที่นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์แล้วมากกว่า 14 โครงการ”
อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยคาดหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้นำผลงานวิจัยไปปฏิบัติจริง รวมทั้งมีการขยายพื้นที่สังคมไทยไร้ความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ หากมีโอกาสในการดำเนินแผนงานวิจัยท้าทายไทย : สังคมไทยไร้ความรุนแรง (ปีที่ 3) โครงการจะขับเคลื่อนงานวิจัยในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในมิติต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานภาคปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและสามารถนำไปลดความรุนแรงในพื้นที่วิจัยได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
Maggi รายงาน