สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) เตรียมยกระดับสู่องค์กรดิจิทัล นำระบบบล็อกเชนใช้ในงานเอกสารประวัติผู้กระทำความผิดในชั้นพนักงานอัยการ เพื่อพัฒนา และยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงาน เทียบเท่าระดับสากล และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชน
นายวีระชาติ ศรีบุญมา อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้อำนวยการสถาบันฝึกอบรมการสอบสวนชั้นสูง เผยว่า “ตามนโยบายการบริหารงานของ ท่านสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด ได้กล่าวไว้ว่า ต้องการให้องค์กรอัยการเป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) คือ ต้องทรานส์ฟอร์มการทำงานของอัยการให้เป็นระบบดิจิทัลให้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน และเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมมีความยุติธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งองค์กรอัยการ มีหนึ่งพันธกิจที่สำคัญ นอกจาก 3 ภารกิจหลัก ได้แก่ การอำนวยความยุติธรรมด้านดำเนินคดี การรักษาผลประโยชน์เป็นที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ และ คุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือประชาชน คือ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง(2) ได้กล่าวโดยสังเขปว่าจะต้องให้พนักงานอัยการมีอำนาจในการถ่วงดุลอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หรือตำรวจ ในชั้นสอบสวน ให้เหมือนกับอารยประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลของทั่วโลก สำหรับภารกิจนี้จึงจำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้ามาช่วยในการทำงาน ช่วยสืบสวนสอบสวนทางกฎหมาย ให้มีความถูกต้อง รวดเร็ว และรอบคอบ ทั้งยังช่วยลดปัญหาการทุจริต หรือการทำงานที่มิชอบในกระบวนการสอบสวนได้อีกด้วย “
นายวีระชาติ ศรีบุญมา กล่าวต่อว่า “ในภารกิจที่เราต้องการสร้างมาตรฐานขององค์กรอัยการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ผมเคยไปดูงานและร่วมประชุมกับอัยการที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ในการนำเทคโนโลยีด้านการสอบสวนมาใช้ในการทำสำนวนสอบสวน กับสำนวนฟ้อง มีส่วนทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากและกระบวนการยุติธรรมมีความเที่ยงธรรม และยังเป็นประโยชน์กับประชาชนสูงสุด ผมเล็งเห็นว่าที่ผ่านมาในกระบวนการสืบสวนของเราเองยังคงพบปัญหาหลายอย่างที่ทำให้เกิดความเสียหายในกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย หลัก ๆ ได้แก่ การใช้ระบบที่ไม่ทันสมัย การใช้ระบบแมนนวลบนกระดาษมากเกินไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพยานหลักฐาน หรือหลักฐานสูญหาย อีกทั้งการวินิจฉัยโดยมนุษย์อาจมีการคลาดเคลื่อนได้ รวมถึงกำลังคนในการสืบสวนคดีที่น้อยกว่าความต้องการของประชาชน และ งบประมาณ ที่ไม่เพียงพอ สิ่งเหล่านี้ทำให้ในการตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ทางอัยการไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลให้กันและกันในการตรวจสอบ อันมีผลต่อการบวกโทษ เพิ่มโทษ และนับโทษต่อ ทำให้เกิดความเสียหายแก่คดี การดำเนินคดีล่าช้า จนหลายครั้งที่เกิดการขาดอายุความ จึงทำให้องค์กร ขาดความเชื่อมั่นต่อประชาชน ในการดำเนินคดีของพนักงานงานอัยการรวมถึงผู้ปฏิบัติงาน
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้องค์กรอัยการตระหนักถึงปัญหาและมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสืบสวนสอบสวน ซึ่งเทคโนโลยีที่นำมาใช้จะต้องเป็นเทคโนโลยีที่สะดวก รวดเร็ว แม่นยำ เที่ยงตรง และมีระบบความปลอดภัยสูง โดยเฉพาะตอนนี้เราได้เริ่มในการนำ “เทคโนโลยีบล็อกเชนงานเอกสารประวัติผู้กระทำความผิดในชั้นพนักงานอัยการ” เข้ามาใช้
สำหรับ “เทคโนโลยีระบบบล็อกเชนงานเอกสารประวัติผู้กระทำความผิดในชั้นพนักงานอัยการ” มีจุดเด่น ด้านการจัดการข้อมูล เอกสารธุรกรรมที่มีผลสมบูรณ์ ใช้กล่าวอ้างฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย มีระบบยืนยันตัวตนระบบอนุมัติด้วยเทคโนโลยีสิทธิบัตร DSignature ระบบกุญแจคู่ ซึ่งปฎิบัติการตามมาตรฐาน EU GDPR และรองรับ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.๒๕๖๒ และเป็นการนำเทคโนโลยีที่นำระบบ AI เข้ามาใช้เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมอิเลคทรอนิกส์ให้ง่าย และรวดเร็วขึ้น โดยมีสำนักงานอัยการภาค๖เป็นหน่วยงานที่นำเสนอและ นำร่องการนำมาใช้งานในเบื้องต้น
ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้านการจัดเก็บเอกสาร ครอบคลุมการทำงานสารบบเอกสารประวัติยกระดับการให้บริการอย่างถูกต้อง ตั้งแต่การรับ การออกเลขรับ บันทึกข้อมูล การเรียกดูข้อมูล การสืบค้นข้อมูล แสดงสถานะ การจัดการรายงาน การจัดกรองข้อมูล การจัดพิมพ์ และจัดส่งข้อมูลประวัติอาชญากรรมตั้งแต่สำนวนฟ้อง ติดตามสถานะจนสิ้นสุดคดี ซึ่งระบบจะมีการบันทึกข้อมูล รายละเอียดต่าง ๆ สำนวนฟ้องและคดีความ ได้ครบถ้วนมีการอัพเดทข้อมูล สถานะของสำนวนได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำ และระบบข้อมูลจะถูกจัดเก็บในฐานข้อมูลของแต่ละจังหวัด มีการบันทึกการเข้าใช้ ทำให้สามารถตรวจสอบ เรียกใช้ข้อมูลในทุกธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้ อันนำมาซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บเอกสารประวัติอาชญากรรม สามารถยกระดับการให้บริการอย่างถูกต้อง รวดเร็วอำนวยความสะดวกในการทำงานให้ ทั้ง ตำรวจ อัยการ และศาล และช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานของกระบวนการยุติธรรม ให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดอีกด้วย
สำหรับการดำเนินงานตอนนี้อยู่ระหว่างผลักดัน โดยทางสำนักงานอัยการ ได้จัดตั้งคณะทำงานที่ 677/2565 เพื่อทำการศึกษา ประโยชน์และการใช้งาน อีกทั้งกำลังเตรียมนำเรื่องเข้าประชุมใหญ่ในคณะกรรมการ ICT เพื่อพิจารณานำระบบนี้เข้ามาใช้ต่อไปในอนาคต โดยนำเทคโนโลยีบล็อกเชนต้นแบบที่มีผลผูกพันธ์ตามกฎหมายที่ปัจจุบันได้ถูกพัฒนาขึ้นโดย บริษัทแองเจิ้ลไทม์จำกัด สตาร์ทอัพด้านบล็อกเชนเทคโนโลยี ซึ่งได้ดำเนินการยื่นจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีบล็อกเชน ในกระบวนการลงลายมือชื่ออิเลกทรอนิกส์ซึ่งมีผลผูกพันธ์ตามกฎหมายและ ถูกนำไปใช้ในหลายองค์กรในประเทศไทย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 6 เดือนและ กำลังจะเตรียมนำระบบบล็อกเชนนี้ สอนให้กับผู้ช่วยอัยการที่กำลังจะเข้ามาใหม่ รวมถึงอัยการทั่วประเทศ ”
นอกจากนี้ ภายในงานเปิดโครงการสอบสวนแบบบูรณาการ เรื่อง “แนวโน้มสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในอนาคตกับการบังคับใช้ทางกฎหมาย” ที่จัดไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูงของ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ได้เผยถึงอนาคตเกี่ยวกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัล ได้ขยายวงกว้างถึงประเทศไทย ทำให้องค์กรอัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเร่งหันมาให้ความสำคัญ และสนใจในเรื่องนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบสวนและดำเนินคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้นการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนงานเอกสารประวัติผู้กระทำความผิดในชั้นพนักงานอัยการเข้ามาใช้จะเอื้อประโยชน์งานด้านการสืบสวนสอบสวน และการดำเนินคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” นายวีระชาติ กล่าวทิ้งท้าย
อ็อด อินทรีย์ รายงาน