กอ.รมน. - วช. ร่วมกับ มมส. เดินหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม พร้อมเร่งส่งมอบนวัตกรรมสู้ภัยแล้งที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์
วันที่ 24 กรกฎาคม 2565 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) จัดพิธีส่งมอบนวัตกรรมและตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการ “การบริหารจัดการภัยแล้งพื้นที่เกษตรกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ด้วยวิจัยและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน” เพื่อนำองค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร
โดยมี พลโท อุดม โกษากุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีส่งมอบฯ และพันเอก โอภาส จันทร์อุดม รองผู้อำนวยการ กอ.รมน. จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หัวหน้าโครงการฯ กล่าวรายงาน ซึ่งในพิธีได้รับเกียรติจาก ผู้ทรงคุณวุฒิวช. หัวหน้าหน่วยงานราชการในท้องถิ่น ผู้นำชุมชน เกษตรกร และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงทุ่งเมืองทอง ตำบลชุมแสง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์
พลโท อุดม โกษากุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. กล่าวว่า กอ.รมน. ได้ร่วมมือกับ วช. ในการสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการภัยแล้งให้กับพื้นที่เป้าหมายจังหวัดบุรีรัมย์ โดยศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. ได้คัดเลือกพื้นที่บ้านตามา บ้านสุขวัฒนา และ บ้านสุขสำราญ ตำบลชุมแสง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิจัยและนวัตกรรม เป็นหัวหน้าโครงการฯ ได้ร่วมกับคณะนักวิจัยจาก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อดำเนินโครงการการบริหารจัดการภัยแล้งพื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. ได้ติดตามการดำเนินงานมาโดยตลอด และด้วยความตั้งใจของหัวหน้าโครงการฯ ตลอดจนการสนับสนุนของส่วนราชการต่าง ๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยกลไกบูรณาการเชิงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานพัฒนา หน่วยงานภาคปฏิบัติในพื้นที่ และหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนผลผลิตการวิจัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เล็งเห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาคการวิจัยและภาคความมั่นคง ในการเชื่อมต่องานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาให้ภาคประชาชน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง วช. และ กอ.รมน. ในการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ตามแนวคิด “ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ซึ่งจะเป็นการส่งมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรมในโครงการเรื่อง “การบริหารจัดการภัยแล้งพื้นที่เกษตรกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ด้วยวิจัยและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน”
โดย วช. ได้ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการภัยแล้งพื้นที่เกษตรกรรม ผ่าน 4 กิจกรรมหลัก 12 นวัตกรรม ที่พัฒนาโดยทีมคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ตำบลชุมแสง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ให้สูงขึ้น และที่สำคัญยิ่งคือ ความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องชาวตำบลชุมแสงและพื้นที่ข้างเคียง ตลอดจน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ปราชญ์ชุมชน ที่ร่วมมือกันจนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
ศาสตราจารย์ ดร.อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า กอ.รมน. และ วช. ได้คัดเลือกพื้นที่ในจังหวัดบุรีรัมย์เป็นพื้นที่เป้าหมายในการทำโครงการการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อชุมชนสังคม ภายใต้แผนงานทุนท้าทายไทยด้านภัยแล้ง กลุ่มเรื่องภัยแล้ง ประจำปี 2564
โดยมอบหมายให้ คณะผู้ดำเนินโครงการจาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ดำเนินโครงการในพื้นที่ 3 หมู่บ้านในเขตตำบลชุมแสง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ บ้านตามา บ้านสุขสำราญ บ้านสุขวัฒนา ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งทุกปี ทำให้เป็นอุปสรรคในการทำเกษตรกรรมของเกษตรกร จากปัญหาภัยแล้งดังกล่าว ทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีความต้องการนวัตกรรมที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนารูปแบบการทำเกษตรให้ตรงกับบริบทของชุมชนให้เกิดประโยชน์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ ทั้งด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การจัดการผลผลิตทางการเกษตร การทำการเกษตรนอกฤดูกาลเพาะปลูก และการต่อยอดการใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด กิจกรรมในวันนี้ ภาคประชาชนในพื้นที่จะได้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ส่งมอบให้ไปใช้ในการประกอบอาชีพของกลุ่ม รวมถึงช่วยเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ให้เป็นที่รู้จักและได้มาใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมจากการวิจัยร่วมกันต่อไป
สำหรับพิธีส่มอบนวัตกรรมในครั้งนี้ มีสมาชิกหมู่บ้านและเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ในพื้นที่ตำบลชุมแสงเข้าร่วมงานกว่า 200 คน โดยผลงานนวัตกรรมที่ กอ.รมน. ร่วมกับ วช. และ มมส. นำมาส่งมอบประกอบด้วย 4 กิจกรรม 12 นวัตกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 : กิจกรรมการพัฒนานวัตกรรมบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย ระบบการจัดสรรน้ำตามศักยภาพน้ำต้นทุน จำนวน 1 ชุดข้อมูล, ชุดข้อมูลการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 1 ชุดข้อมูล, ชุดระบบสูบน้ำด้วยพลังงานเเสงอาทิตย์เเบบเคลื่อนย้ายได้เพื่อการเกษตร จำนวน 3 ชุด, ชุดนวัตกรรมสูบน้ำและกระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 3 ชุด และชุดนวัตกรรมหน่วยเก็บกักน้ำย่อยและกระจายน้ำและสูบและจ่ายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ จำนวน 3 ชุด
กิจกรรมที่ 2 : การพัฒนานวัตกรรมในการยกระดับการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง ประกอบด้วย ชุดระบบอบแห้งด้วยรังสีอินฟราเรดเเบบถังหมุนชนิดเคลื่อนย้ายได้ระบบไฮบริด จำนวน 1 ชุด และชุดนวัตกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มคุณภาพข้าวเปลือกและเมล็ดพันธุ์ 1 ชุด กิจกรรมที่ 3 : การพัฒนานวัตกรรมเกษตรแบบผสมผสานเพื่อแก้ปัญหาความยากจนด้วยระบบสมาร์ทฟาร์ม ประกอบด้วย นวัตกรรมเกษตรแบบผสมผสาน จำนวน 1 ชุด และกิจกรรมที่ 4 : การส่งเสริมนวัตกรรมชุมชนพึ่งตนเองและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน ประกอบด้วย ชุดระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชนพึ่งตนเอง จำนวน 1 ชุด, ชุดเตาเผาชีวมวล จำนวน 1 ชุด, ชุดเครื่องผลิตน้ำส้มควันไม้ จำนวน 1 ชุด และชุดผลิตปุ๋ยจากผลิตภัณฑ์เหลือทิ้งจากป่าชุมชน จำนวน 1 ชุด โดยมี พันเอก โอภาส จันทร์อุดม รองผู้อำนวยการ กอ.รมน. จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นผู้รับมอบนวัตกรรมฯ และได้ส่งมอบนวัตกรรมดังกล่าวต่อให้แก่ตัวแทนของพื้นที่ 3 หมู่บ้านของตำบลชุมแสง ได้แก่ บ้านตามา บ้านสุขวัฒนา และบ้านสุขสำราญ เพื่อให้พื้นที่ทั้ง 3 หมู่บ้านที่กล่าวมา นำองค์ความรู้และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาภัยแล้ง ก่อให้เกิดเกิดการบริหารจัดการแหล่งน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตรให้ได้มากที่สุด ซึ่งทำการแก้ปัญหาจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน