ททท. จับมือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สถาบันอาหาร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดตัวโมเดลพัฒนาชุมชนโครงการ Local X ภายใต้คอนเซ็ปต์ Collaboration จับคู่พาทเนอร์ที่ใช่ทำงานร่วมกับชุมชน สร้างสรรค์สินค้าท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ พร้อมคู่ค้าร่วมทำตลาดแบ่งปันประโยชน์ที่เป็นธรรมร่วมกันกับชุมชน
นายคมกริช ด้วงเงิน รองผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการโลคอล เอกซ์ (Local X) เกิดขึ้นจากแนวคิดที่จะพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยโมเดลการสร้างหุ้นส่วนความสำเร็จ สรรหาพาทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มา Collaborate ร่วมคิดร่วมทำกับชุมชน ตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมพัฒนาสินค้าท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้ชุมชนไปจนถึงการดำเนินธุรกิจจริง ๆ รวมทั้งการทำตลาด การขาย จับมือกันกับชุมชนในฐานะพาทเนอร์ ทำงานร่วมกันไปตลอดทาง และแบ่งปันประโยชน์ที่เป็นธรรมร่วมกันสำหรับทุกฝ่ายนี่คือหัวใจของความยั่งยืน ในส่วนของชุมชนในพื้นที่เพชรบุรี ชุมชนบ้านไร่กร่าง ได้รับการคัดเลือกด้วยเหตุผลที่สำคัญคือเป็นชุมชนที่มีความพร้อมด้วยทัศนคติที่เปิดกว้างพร้อมเรียนรู้ พร้อมพัฒนาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานในโครงการฯ นี้
ผลลัพธ์ของการทำงานร่วมกับพาทเนอร์มาหลายเดือน จนในที่สุดวันนี้ชุมชนบ้านไร่กร่างได้สินค้าท่องเที่ยวใหม่ ในรูปแบบของ School & Family Outing แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนสำหรับเด็กประถมศึกษา ซึ่งได้พาทเนอร์ จากโรงเรียนดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมาออกแบบกิจกรรมให้ ในส่วนของผลิตภัณฑ์ใหม่ของชุมชนได้พาทเนอร์จากสถาบันอาหารมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ชูการ์ตาล น้ำตาลโตนดผง 100% ซึ่งเป็นวัตถุดิบคุณภาพดีของชุมชน และยังมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ได้มาช่วยออกแบบโลโก้ พร้อมบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ จากวันนี้ก็จะมีพาทเนอร์จากกิจการเพื่อสังคม ฟายด์ โฟล์ค และ ไฟด์ ฟู้ด ที่มาช่วยประสานในการ กิจกรรมท่องเที่ยว และการต่อยอดตลาดผลิตภัณฑ์ต่อไป
นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่สืบสานรักษาและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมให้ยั่งยืน ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายร่วมกันทำงานกับทุกภาคส่วน ไม่ใช่ทำคนเดียว หรือต่างคนต่างทำ เพื่อความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ การขับเคลื่อนงานส่งเสริมวัฒนธรรมยุคใหม่นี้ ต้องทำให้วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ต่อยอดได้ เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือตลาดใหม่ ๆ ได้ ดังเช่นการพัฒนาชุมชนบ้านไร่กร่าง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนสำหรับเด็ก เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น ได้สัมผัสวิถีชีวิตชนบทที่เด็กในเมืองไม่มีโอกาสได้รู้จัก โมเดลนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน สำหรับกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ในส่วนของการพัฒนาชูการ์ตาล น้ำตาลโตนดผง 100% ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการต่อยอดยกระดับทุนทางวัฒนธรรมชุมชนโดยใช้เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาดคนรุ่นใหม่
นายประสงค์ หอมรื่น ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านไร่กร่าง เปิดเผยว่า ชุมชนบ้านไร่กร่างอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นตาลและต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะต้นกร่างซึ่งเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน คนในชุมชนส่วนใหญ่นั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรม และมีรายได้จากการทำน้ำตาลโตนด อยากเชิญชวนโรงเรียนในกรุงเทพฯ และจัดหวัดใกล้เคียง พาเด็กมาเที่ยวชุมชนบ้านไร่กร่าง ขุมทรัพย์ความหวานของน้ำตาลโตนดแห่งเมืองเพชรบุรี เด็ก ๆ จะได้สัมผัสธรรมชาติ เรียนรู้วิถีคนตาลโตนด ทำขนมจากตาลโตนด และสนุกกับการทำของเล่นจากธรรมชาติด้วยตัวเอง เด็ก ๆ จะได้ประสบการณ์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่หาไม่ได้จากในรั้วโรงเรียน ได้รู้จักวัฒนธรรม ประเพณีต่าง ๆ ในท้องถิ่น ได้พัฒนาทักษะทางการสื่อสาร สังคม และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นซึ่งล้วนเป็นทักษะแห่งอนาคตทั้งสิ้น
4 กิจกรรมแห่งการเรียนรู้ สำหรับเด็ก
ทุ่งนาป่าตาล – สนามทดลองความหวานกลางธรรมชาติ ทำความรู้จักต้นตาลโตนด/วิธีทำน้ำตาลโตนด/ทำขนมโตนดสุก
อาหารกลางวันจานเด็ด - ลิ้มรสอาหารวิถีคนเพชร
บัวลอยโตนดสุกพาเพลิน - สนุกกับของหวานจากตาลโตนดคู่บ้าน
อีโป้งโยงใจ – สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์หนึ่งเดียวในโลกจากลูกตาลโตนด
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายประสงค์ หอมรื่น ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านไร่กร่าง โทร. 099-0559205 และบริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด (คุณนัท) โทร. 080-6964454 ข่าว-สุรพล นาคนคร จ.เพชรบุรี โทร 086-3555101