วช.ให้ทุนทีมเศรษฐศาสตร์ มช. ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการอยู่รอดของวิสาหกิจชุมชนภาคเหนือ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 พบกลุ่มผลิตปศุสัตว์และแปรรูปผลิตภัณฑ์ มีโอกาสรอดสูงกว่ากลุ่มบริการ นอกจากนี้ยังต้องมีความยืดหยุ่นในการผลิตสินค้าและการให้บริการ รวมถึงให้ความสำคัญกับการทำการตลาดออนไลน์ และทำวิจัยร่วมกับหน่วยงานของภาครัฐและสถาบันการศึกษา
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบการทุกกลุ่มสาขาอาชีพ รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในภูมิภาคต่าง ๆ ที่รายได้ลดลงไปจนทำให้หลายกิจการต้องปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชนภาคเหนือ วช.จึงให้ทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรมประจำปีงบประมาณ 2564 ในโครงการ “วิเคราะห์ความน่าจะเป็นของการอยู่รอดและแนวทางการปรับตัวของวิสาหกิจชุมชนภาคเหนือภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19” ซึ่งมี รศ.ดร.ภารวี มณีจักร จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อความน่าจะเป็นในการอยู่รอดของวิสาหกิจชุมชนภาคเหนือภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงถอดบทเรียนของวิสาหกิจชุมชนภาคเหนือที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว
ดร.ภารวี มณีจักร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากข้อมูลในปี 2563 พบว่าภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนวิสาหกิจชุมชนมากเป็นอันดับที่สองของประเทศ รองจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ไม่ต่างจากวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ในประเทศไทย โดยมีวิสาหกิจชุมชนจำนวนมากที่ต้องหยุดกิจการ แต่ก็ยังมีวิสาหกิจอีกบางส่วนที่สามารถปรับตัวและอยู่รอดภายใต้วิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้ ทีมวิจัยจึงทำการศึกษาวิเคราะห์เชิงลึก ถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อความอยู่รอดของวิสาหกิจชุมชน และถอดบทเรียนวิสาหกิจชุมชนภาคเหนือที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงเสนอแนวทางเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและการพึ่งพาตนเองได้ในช่วงหลังโควิด-19
สำหรับผลการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อความอยู่รอดของวิสาหกิจชุมชน ได้มีการเก็บข้อมูลจากวิสาหกิจชุมชนภาคเหนือ 400 ตัวอย่างใน 9 จังหวัด และนำมาวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองที่ใช้ในการวิเคราะห์โอกาสในการอยู่รอด หรือ “COX model” โดยในส่วนของปัจจัยด้านพื้นฐานของวิสาหกิจชุมชนพบว่า วิสาหกิจชุมชนในกลุ่มผลิตปศุสัตว์และแปรรูปผลิตภัณฑ์มีโอกาสที่จะอยู่รอดมากกว่ากิจการให้บริการ เพราะมีความแน่นอนของตลาดและสามารถปรับตัวได้มากกว่าธุรกิจในกลุ่มบริการ อีกทั้งมีสัดส่วนลูกค้าเป็นคนในพื้นที่มากกว่าคนนอกพื้นที่ ส่วนปัจจัยด้านทุนชุมชน พบว่า การจัดการทางการเงินที่ดีจะส่งผลในทางบวกต่อการอยู่รอดของวิสาหกิจชุมชนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และยังพบว่าแม้บางวิสาหกิจได้เข้าร่วมอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและบริหารจัดการ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านอายุที่มากและขาดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ขาดแคลนอุปกรณ์ที่ทันสมัย รวมถึงการขาดการติดตามผลจากผู้อบรม จะมีผลต่อการอยู่รอดของการดำเนินธุรกิจด้วย
สำหรับปัจจัยด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดและการปรับตัวของวิสาหกิจชุมชน ผลการศึกษาพบว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด หากวิสาหกิจชุมชนตัดสินใจเปิดทำการตามปกติ หรือเปิดทำการแต่ลดชั่วโมงการปฏิบัติงานจะทำให้มีโอกาสที่จะอยู่รอดมากขึ้นกว่าการปิดกิจการชั่วคราว นอกจากนี้วิสาหกิจชุมชนที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการจำหน่ายมาเป็นแบบออนไลน์จะช่วยทำให้โอกาสในการอยู่รอดของวิสาหกิจชุมชนเพิ่มขึ้นได้ ส่วนปัจจัยด้านการสนับสนุนจากภาครัฐในช่วงการแพร่ระบาด พบว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชน เช่น โครงการคนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน และโครงการตลาดเกษตรออนไลน์ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการเกษตรสามารถช่วยให้วิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมมีโอกาสที่จะอยู่รอดเพิ่มมากขึ้นกว่าวิสาหกิจชุมชนที่ไม่เข้าร่วมโครงการ
ดร.ภารวี กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด ทีมวิจัยได้มีการถอดบทเรียนวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จ 4 แห่งคือ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตน้ำผึ้งดอกลำไย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสมุนไพร วิสาหกิจชุมชนผลิตกาแฟ และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มให้บริการที่พักหรือโฮมสเตย์ และนำไปสู่แนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการพึ่งพาตนเองได้ในช่วงหลังโควิด-19 ซึ่งพบว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จและความอยู่รอดในระยะสั้นคือ ความยืดหยุ่นในการผลิตสินค้าและการให้บริการ เช่น กลุ่มที่ทำการผลิตสมุนไพรก็ได้หันมาผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการในขณะนั้นมากขึ้น เช่น สมุนไพรฟ้าทะลายโจร กระชายขาว และฟ้าทะลายโจรผสมกระชายขาวทั้งในรูปแบบแคปซูลและแบบผง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อโรคในรูปแบบสเปรย์ ส่วนปัจจัยสู่ความอยู่รอดอย่างยั่งยืน หรือระยะยาวนั้นก็คือ การให้ความสำคัญกับการทำการตลาดออนไลน์ เช่น Shopee Lazada Line-shopping และ Facebook ฯลฯ และมีการทำวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานของภาครัฐและสถาบันการศึกษา
จากผลการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยสู่ความอยู่รอด และจากการถอดบทเรียน สามารถนำไปถ่ายทอดความรู้ผ่านการอบรมให้กับวิสาหกิจชุมชนที่สนใจ รวมถึงชุมชนที่ไม่ประสบความสำเร็จในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดจนสามารถแก้ไขจุดอ่อนต่างๆ มีการปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ ซึ่งเป็นการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่มีการแลกเปลี่ยนมุมมอง ความรู้ และมีการบูรณาการความรู้ระหว่างวิสาหกิจชุมชนและสถาบันการศึกษา โดยสถาบันการศึกษาเป็นองค์กรที่มีความรู้ มีเทคโนโลยีที่สมัยใหม่ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในมิติต่างๆ ขณะเดียวกันนักวิชาการก็สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์และองค์ความรู้ท้องถิ่นจากวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นผู้ลงมือปฏิบัติจริง
ผลของการวิจัยนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชุมชน ให้สามารถพึ่งพาตนเอง ได้ในระยะยาว และยังสามารถต่อยอดงานวิจัยในอนาคตได้ เช่น ระบบการจัดการโลจิสติกส์ มาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงินจากธนาคารเฉพาะกิจ ที่ต้องวิเคราะห์หาจุดสมดุลระหว่างการให้ความช่วยเหลือและเสถียรภาพของสถาบันการเงิน ซึ่งผลการศึกษานี้จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน