กรมศุลกากรจับ เฮโรอีน 7,210 กรัม ซุกซ่อนมากับสินค้าทางพัสดุไปรษณีย์ มูลค่ากว่า 21 ล้านบาท
วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2565
กรมศุลกากรตรวจยึด เฮโรอีน ซุกซ่อนมากับสินค้าทางพัสดุไปรษณีย์ ต้นทางจากประเทศกัมพูชา จำนวน 7,210 กรัม ผ่านประเทศไทยปลายทางไต้หวัน มูลค่า 21,630,000 ล้านบาท ณ สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากร ได้ร่วมกับบริษัทโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการสร้างภาคีความร่วมมือเพื่อสกัดกั้นการขนส่งยาเสพติดทางพัสดุไปรษณีย์และสินค้าเร่งด่วนระหว่างประเทศ (Narcotics Interdiction on Postal and Express Consignment) โดยเฝ้าระวังการลักลอบลำเลียงยาเสพติดผ่านช่องทางศุลกากร ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ยาเสพติดจะปะปนมากับสินค้าที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ตรวจพบพัสดุไปรษณีย์ต้องสงสัย เมื่อเปิดตรวจพบเครื่องทำน้ำอุ่น จำนวน 1 เครื่อง และทุเรียนอบแห้ง จำนวน 4 ลัง ต้นทางจากประเทศกัมพูชา ผ่านประเทศไทย ปลายทางไต้หวัน ทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดังนั้น ชุดปฏิบัติการ Airport Interdiction Task Force (AITF) ประกอบด้วย กรมศุลกากร สำนักงาน ป.ป.ส. กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมกันตรวจสอบ พบเฮโรอีนอัดแท่ง ตราสัญลักษณ์สิงโตเหยียบลูก จำนวน 10 แท่ง น้ำหนักประมาณ 3,700 กรัม ซุกซ่อนอยู่ในเครื่องทำน้ำอุ่น ดัดแปลงขึ้นใหม่จำนวน 1 เครื่อง และพบเฮโรอีนบรรจุอยู่ภายในซองกันชื้น น้ำหนักประมาณ 3,510 กรัม ซุกซ่อนอยู่ใน ถุงทุเรียนอบแห้ง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศกัมพูชา จำนวน 4 ลัง รวมเฮโรอีนที่ตรวจยึดทั้งหมดในครั้งนี้ น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 7,210 กรัม มูลค่า 21,630,000 ล้านบาท จึงได้ทำบันทึก ตรวจยึด และนำของกลางส่งสถานีตำรวจภูธรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า กรณีนี้เป็นความผิดฐานพยายามส่งออกยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เฮโรอีน) ออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมาย
ยาเสพติด ประกอบพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 ,166 และ 167
ทั้งนี้ กรมศุลกากร จะประสานความร่วมมือกับบริษัทขนส่ง หน่วยปราบปรามยาเสพติดของประเทศกัมพูชา ศุลกากรไต้หวัน และ Ministry of Justice Investigation Bureau ของไต้หวันประจำประเทศไทย เพื่อทำการสืบสวนขยายผลผู้ส่งสินค้าต้นทางจากประเทศกัมพูชา และผู้รับสินค้าปลายทางต่อไป
สำหรับสถิติผลการจับกุมยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประจำปี
งบประมาณ 2565 จำนวน 125 คดี มูลค่ากว่า 2,030.45 ล้านบาท