63 ปี วช. ขนทัพงานวิจัย โชว์เวที “NRCT Talk”
วันที่ 26 ตุลาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเวที “NRCT Talk” โชว์ผลงานวิจัยที่ วช. ให้การสนับสนุนและผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ในงาน“วันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรมฯ ณ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรมบนเวที “NRCT Talk” ที่จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานการของ วช. ในการสนับสนุนและผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ให้แก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงการประชาสัมพันธ์และจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่นของ วช. เพื่อสร้างความตระหนัก และการรับรู้ต่อภาครัฐและเอกชน โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจต่าง ๆ ดังนี้
ผลงานวิจัยเรื่อง “ความทนทานทางชีวภาพและการใช้งานของกลาสเซรามิกเป็นฟันเทียมชนิดบางส่วนติดแน่น” โดย รศ.ดร.ดวงฤดี ฉายสุวรรณ แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งการพัฒนากลาสเซรามิกสูตร GCCY โดยพิจารณาจากสารเติมแต่งและกระบวนการทางความร้อนเป็นสำคัญ
โดยมีช่วงการก่อนิวเคลียสที่ยาวนานขึ้น (72 ชั่วโมง) ส่งผลให้มีจำนวนนิวคลีไอและผลึกเพิ่มขึ้น อีกทั้งสารเติมแต่งชนิดซีเรียมออกไซด์ ส่งผลให้กลาสเซรามิก
มีลักษณะขาวอมเหลือง โดยกลาสเซรามิกที่ผลิตได้มีความแข็งแรงสูงขึ้นมาก และสามารถยอมรับได้ในมาตรฐานวัสดุ
เซรามิกทางทันตกรรม และมีความแข็งเข้าใกล้ความแข็งของเคลือบฟัน และเนื้อฟัน ที่ทันตแพทย์ต้องการมากขึ้น และสามารถกรอแต่งด้วยระบบ CAD/CAM ซึ่งเป็นการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการสร้างชิ้นงานทางทันตกรรม ตรงตาม
ความต้องการของทันตแพทย์
ผลงานวิจัยเรื่อง “เพิร์ลสกิน : ครีมขัดผิวเกล็ดประกายมุก” ของ นางสาวเมธีรัตน์ ธานีรัตน์ นักศึกษาปริญญาโท
แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งเพิร์ลสกิน : ครีมขัดผิวเกล็ดประกายมุก เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปเปลือกหอยเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลทำให้ขยะเปลือกหอยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นการกำจัดขยะโดยการแปรรูปขยะให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง สร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เกล็ดประกายมุกแปรรูปจากเปลือกหอยแมลงภู่ มีคุณสมบัติพิเศษที่เหมาะสมในการใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อการขัดผิวในเครื่องสำอางจากการแปรรูปจะมีช่องว่างระดับนาโนเมตร แทรกอยู่ระหว่างชั้นของแผ่นอะราโกไนต์ทำให้สามารถบรรจุสารออกฤทธิ์เข้าไปแทนที่ ส่งผลทำให้เกิดเป็นกระบวนการทำงานแบบไบโอเอนแคปซูเลชั่นในเกล็ดประกายมุกที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
ผลงานวิจัย “ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางจากข้าวสังข์หยดอินทรีย์ พัทลุง” โดย ดร.พรวิชัย เต็มบุตร
แห่งคณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เป็นผลงานวิจัยดังกล่าวได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปข้าวสังข์หยดสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงตามมาตรฐานชุมชน” เป็นการต่อยอดจากโครงการเดิมในการนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน เกิดผลผลิตที่สำคัญ คือ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบโจ๊กข้าวกล้องสังข์หยดสำเร็จรูปปรุงรส และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางคลีนซิ่งออยล์จากสารสกัดรำข้าวสังข์หยด พร้อมทั้งคู่มือองค์ความรู้เรื่อง “การเพิ่มมูลค่าข้าวสังข์หยดด้วยการแปรรูป” ในการขยายพื้นที่จากเดิมเพื่อเป็นชุมชนต้นแบบ ให้เป็นกลุ่มเป้าหมายในการขยายผลสำหรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเพิ่มมูลค่าข้าวสังข์หยดด้วยการแปรรูป โดยใช้วัตถุดิบที่เหลือจากการขายทั้งส่วนที่เป็นข้าวหักท่อนและรำข้าว
สู่ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และ อย. เป็นการเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการประกอบอาชีพของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสังข์หยด ขยายระดับการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ในระดับที่สูงขึ้น อาศัยความร่วมมือตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่วิสาหกิจชุมชนที่เป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสังข์หยดในจังหวัดพัทลุง ร่วมมือกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการนำองค์ความรู้ดังกล่าวเป็นหน่วยขับเคลื่อนประสานงาน สนับสนุนและสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้จากการแปรรูปข้าวสังข์หยดให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยนวัตกรรม เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มความรู้ให้แก่ประชาชนในจังหวัดยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริง
สำหรับกิจกรรมบนเวที “NRCT Talk” นักวิจัยจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนมาให้ความรู้จำนวนมาก ซึ่งผลงานวิจัยที่นำมาแสดงในเวที “NRCT Talk” เป็นผลงานที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. โดยกิจกรรมดังกล่าว จะจัดถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2565