"สอศ.จับมือ สตช. และเครือข่ายฯ ยกระดับสถานศึกษาปลอดภัย แก้ภาพลักษณ์ใหม่นักเรียนนักศึกษาอาชีวะ"
วันที่ 5 ตุลาคม 2565
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจโท สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย
ได้ร่วมกันดำเนินการจัดประชุมเครือข่ายสถานศึกษา ประกอบด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาครัฐภาคเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล สมาคมศิษย์เก่า สมาคมผู้ปกครองและครู องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กรมอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามโครงการสถานศึกษาปลอดภัยของ
กระทรวงศึกษาธิการโดย ท่านตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำระบบเทคโนโลยีสาระสนเทศ MOE Safety Center เพื่อดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาแบบรอบด้าน โดยขับเคลื่อนด้วยหลัก 3 ป. ได้แก่ ‘ป้องกัน’ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ต่อตัวบุคคลหรือสถานที่ ‘ปลูกฝัง’ ให้ผู้เรียน เรียนรู้วิธีเอาตัวรอด สอนวิชาชีวิต ไม่น้อยกว่าวิชาการ และ ‘ปราบปราม’ การกระทำผิดอย่างจริงจัง เน้นเยียวยาแก่ผู้เสียหายเป็นสำคัญ
ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ให้นโยบายในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่เพื่อเกิดความเชื่อมั่นในการเรียนสายอาชีวศึกษา คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหา การสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษาใหม่ เพื่อร่วมกันสร้างและผลิตพัฒนากำลังคนอาชีวะสู่การพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ร่ำรวยด้วยมืออาชีวะ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ผู้เรียนอาชีวศึกษา คือ ผู้ทรงคุณค่าของสังคม” ฉะนั้นเวลานี้จึงต้องมุ่งมั่นสร้างความเชื่อมั่น ให้กับนานาประเทศ เพื่อนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้า โดยปราศจากความขัดแย้ง ซึ่งไม่ใช่แค่ รัฐบาลเพียงอย่างเดียวที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว แต่รวมถึงประชาชน นิสิต นักศึกษา ภาครัฐ และเอกชนทุกคน ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น ด้วยการลดความขัดแย้ง แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
จากนโยบายดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้ทำการจัดตั้งกลุ่มเฝ้าระวัง 7 กลุ่ม ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อเฝ้าระวังเหตุพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ ประกอบด้วย สถานศึกษาภาครัฐ และเอกชน จำนวน 47 สถานศึกษา และตำรวจในพื้นที่ดำเนินการจัดทำแผนเฝ้าระวังเหตุและปฏิทินการดำเนินงาน และมาตรการวิธีป้องกันการทะเลาะวิวาทของแต่ละสถานศึกษา โดยประสานพลังความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันเฝ้าระวังตรวจตามจุดเสี่ยงต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ครูปกครองเฝ้าระวังทั้งในและนอกสถานศึกษา ในช่วงก่อนเวลาเข้าเรียนและช่วงเลิกเรียน การตรวจค้นอาวุธ การกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเชิงบวก มีการจัดประชุมภาคีเครือข่ายร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายให้วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี อาชีวศึกษากรุงเทพ ซึ่งเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน เป็นศูนย์ประสานงานร่วมกับ สน.มีนบุรี
การจัดประชุมในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้มอบหมาย นายทวีศักดิ์ คิ้วทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี ประธานอาชีวศึกษากรุงเทพ
ดำเนืนการจัดเตรียมสถานที่ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการประชุม ณ ห้องประชุมสุธี-ฉวีวรรณ มีนชัยนันท์อาคาร 6 ชั้น 5 วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี