๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๕
วันปิยมหาราช
วันพระบิดาแห่งประชาธิปไตย
โดย นายสมพร มูสิกะ เลขาธิการ สภากรรมการแห่งชาติ
ด้วยวันนี้เป็นวันรำลึกสมเด็จพระปิยะมหาราชได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง สภากรรมกรแห่งชาติของน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์ท่าน ด้วยการปฏิบัติบูชา สร้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างสันติ เพื่อเป็นแบบอย่างของโลกในการแก้ปัญหาชาติและแก้ปัญหาโลก โดยเฉพาะสถานการณ์ของไทยในปัจจุบันได้เกิดการขัดแย่งทางทฤษฎีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อยุติปัญหานี้จึงต้องยกขึ้นสู่หลักวิชา ตามแนวทางของพระปิยะมหาราช
ประชาธิปไตย กับ เผด็จการ เป็นวิธีอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ซึ่งต่างก็มีมาแต่ดึงดำบรรพ์ คู่กับมนุษย์เมื่อชุมชนพัฒนาขึ้นเป็นรัฐ (State) มนุษย์ได้นำเอาเผด็จการมาใช้ให้เป็นระบอบการปกครอง เรียกว่าการปกครองระบอบเผด็จการ (Dictatorship) ซึ่งใช้มาตลอดประวัติศาสตร์ สมัยโบราณ (Ancient History) และสมัยกลาง (Middle Ages) อันยาวนานหลายพันปี จนถึงระยะแรกของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ (Modern History) โดยใช้รูปของระบอบการปกครองต่าง ๆ กัน ส่วนใหญ่มี ๒ รูป คือ ระบอบอภิชนาธิปไตย (Aristocracy) และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy)
เมื่อประมาณ ๓๐๐ ปีมานี้มนุษย์ได้เริ่มนำเอาประชาธิปไตยมาใช้เป็นระบอบการปกครอง เรียกว่าการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือการปกครองระบอบประชาธิปไตย (Democratic Government) ซึ่งคนไทยนิยมเรียกย่อ ๆ ว่าระบอบประชาธิปไตย
หลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย คืออำนาจอธิปไตยเป็นของ ปวงชน ซึ่งอับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ขยายความว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตย คือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ผลการทดลองในยุโรปและอเมริกาเหนือพิสูจน์ให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่เป็นธรรมเพราะความเป็นธรรมย่อมสอดคล้องกับประโยชน์ของประชาชนเสมอไป หรือประโยชน์ของประชาชนย่อมสอดคล้องกับความเป็นธรรมเสมอไป ซึ่งเป็นกฎของมนุษย์ ฉะนั้น ประเทศใดมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประชาชนจึงได้รับผลประโยชน์คือ มีเสรีภาพ มีสิทธิ มนุษยชน และมีชีวิตความเป็นอยู่พ้นจากขีดแห่งความยากจน เป็นจริงดังคำของอับราฮัม ลินคอล์น ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือการปกครองเพื่อประชาชน เพราะเมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนแล้ว ประชาชนย่อมใช้อำนาจนั้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนเอง
ในประวัติศาสตร์สมัยโบราณและสมัยกลางซึ่งใช้ระบอบเผด็จการนั้น การปกครองจะเป็นธรรมหรือเป็นอธรรม ขึ้นอยู่กับพระเจ้าแผ่นดินว่าจะเป็นพระราชา พระมหาราชา หรือทรราชา ถ้าพระเจ้าแผ่นดินเป็นพระราชาการปกครองก็เป็นธรรม ยิ่งเป็นพระมหาราช การปกครองก็เป็นธรรมอย่างยิ่ง เช่น การปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นต้น แต่ถ้าพระเจ้าแผ่นดินเป็นทรราชการปกครองก็เป็นอธรรมอย่างรุนแรง เช่น การปกครองของจักรพรรดิเนโรแห่งโรมัน
แต่ระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นการปกครองที่เป็นธรรมอยู่ในตัวแล้ว ซึ่งบังคับให้รัฐบาลต้องมีความเป็นธรรม ถ้ารัฐบาลไม่มีความเป็นธรรมก็จะอยู่ไม่ได้
แต่มหาอำนาจในยุโรปและอเมริกาที่เป็นประชาธิปไตยนั้น เป็นประชาธิปไตยแต่ในประเทศของตน ต่อประเทศล้าหลังในเอเชียและทวีปอื่น ๆ กลับใช้ระบอบเผด็จการ ในรูปของลัทธิล่าอาณานิคม ซึ่งประเทศไทยก็ตกเป็นเหยื่อด้วยประเทศหนึ่ง แต่ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นพระมหาราช ได้ทรงรักษาชาติไทยให้พ้นภัยมาได้ สมเด็จพระปฐมบรมราชจักรีวงศ์ ทรงรักษาชาติไทยให้พ้นภัยจากพม่าข้าศึก สมเด็จพระปิยมหาราช ทรงรักษาชาติไทยให้พ้นภัยจากเจ้าอาณานิคมทั้งหลาย
การรักษาชาติไทยให้พ้นภัยจากเจ้าอาณานิคมนั้น ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียใช้วิธีต่าง ๆ กัน เช่น วิธีอ่อนหวาน วิธีผ่อนปรน วิธีต่อสู้ด้วยกำลัง และวิธีอาศัยกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ล้มเหลวทั้งสิ้น
ด้วยพระปรีชาญาณอันสุขุมคัมภีรภาพ สมเด็ดพระเจ้าปิยมหาราชทรงค้นพบว่า วิธีต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอย่างได้ผล คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือการสร้างประชาธิปไตย
การสร้างประชาธิปไตยมี ๒ ขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือการสร้างรัฐแห่งชาติ (National State) โดยยกเลิกการปกครองแบบเก่าและตั้งกระทรวงอย่างยุโรป พร้อมด้วยการขยายเสรีภาพโดยเฉพาะคือการเลิกทาส ขั้นตอนที่ ๒ คือเปลี่ยนอำนาจอธิปไตยของพระมหากษัตริย์เป็นอำนาจอธิปไตยของประชาชน
สมเด็จพระปิยมหาราช ทรงกระทำสำเร็จในขั้นตอนที่ ๑ และในระหว่างทรงดำเนินการขั้นตอนที่ ๒ ก็เสด็จสวรรคตเสียกลางคัน ในขณะที่พระจักรพรรดิมัตซูฮิโต ซึ่งทรงสร้างประชาธิปไตยในญี่ปุ่นมาพร้อม ๆ กับสมเด็จพระปิยมหาราช และทรงมีพระชนม์มายุ ยืนยาว ได้บรรลุผลสำเร็จในขั้นตอนที่ ๒ ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศประชาธิปไตย และเป็นหนึ่งในประเทศร่ำรวยที่สุด ๗ ประเทศ
สมเด็จพระมงกุฎเกล้า ทรงสืบทอดพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระราชบิดาต่อไป ด้วยการขยายเสรีภาพอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขอย่างสมบูรณ์สำหรับสมเด็จพระปกเกล้า ที่จะทรงสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จตามพระราชปณิธานที่ว่า “ข้าพเจ้าสมัครใจจะสละอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป” แต่ในขณะทรงดำเนินการเพื่อโอนอำนาจให้แก่ประชาชนอยู่นั้น ก็ถูกคณะราษฎรชิงอำนาจไปเสียก่อน และเอาไปให้แก่คนส่วนน้อย ที่สืบทอดการปกครองโดยพรรคต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบัน การสร้างประชาธิปไตยของพระมหากษัตริย์จึงล้มเหลว ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบเผด็จการรัฐสภา ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ถ้าคณะราษฎรไม่ทำลายพระราชกรณียกิจสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย ของสมเด็จพระปกเกล้าเสีย การสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทยก็สำเร็จตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ และเวลา ๘๓ ปี เป็นการเหลือเฟือสำหรับประเทศไทย ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะไล่ทันหรือขึ้นหน้าญี่ปุ่น
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นระบอบเผด็จการรูปหนึ่ง แต่เนื่องด้วยมีทศพิธราชธรรมเป็นรากฐาน และพระมหากษัตริย์ล้วนแต่ทรงคุณธรรมอันมหาประเสริฐ ฉะนั้นการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของประเทศไทย โดยเฉพาะภายใต้พระบรมราชจักรีวงศ์ จึงเป็นการปกครองที่เป็นธรรม แตกต่างกับการปกครองระบอบเผด็จการรัฐสภา ซึ่งเป็นการปกครองที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ถึงขนาดนักการเมืองถูกแช่งด่าสาปแช่งดังที่เห็นกันอยู่
แม้หากว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน ประเทศชาติก็จะเจริญก้าวหน้าและประชาชนมีความสุขด้วยการปกครองที่เป็นธรรม ประเทศชาติไม่เสื่อมโทรมและประชาชนไม่ต้องทนทุกข์ด้วยการปกครองถึงอธรรมขนาดนี้ สมเด็จพระปกเกล้าตรัสไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ ในขณะที่ระบอบเผด็จการรัฐสภาพยังไม่รุนแรงอย่างในปัจจุบันว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน ยังดีกว่าสมบูรณาญาสิทธิของคณะ” ข้อเท็จจริงในปัจจุบันพิสูจน์ความถูกต้องของพระราชดำรัสนี้ เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดีกว่าระบอบเผด็จการรัฐสภาอย่างไม่อาจเปรียบเทียบกันได้เลย
ถึงกระนั้น สมเด็จพระปิยมหาราช ก็ทรงมีพระราชปนิธานจะยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นแทน และได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจสำเร็จแล้วในขั้นตอนที่ ๑ ด้วยทรงเล็งเห็นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือการปกครองที่เป็นธรรมอันจะยังความปลอดภัยและความเจริญแก่ประเทศชาติและยังความผาสุขแก่ประชาชน ตามพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระปกเกล้าที่กล่าวถึงพระราชดำรัสแก้ไขการปกครองแผ่นดินของสมเด็จพระปิยมหาราชว่า “พระราชดำรัสนี้นอกจากจะให้ความรู้อันดียิ่งดังกล่าวแล้ว ยังทำให้ทราบในพระราชหฤทัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นอย่างดีว่าพระองค์ท่านมิได้นึกถึงสิ่งอื่นเลยนอกจากความสุขของประชาชนและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศที่เป็นที่ตั้งเป็นหลักสำคัญในการที่จะทรงพระราชดำริกิจการใด ๆ ทั้งปวง” นี่คือจุดยืนประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งเป็นพระราชฤทัยของนักประชาธิปไตยผู้ยิ่งใหญ่ คือจิตใจแห่งความเป็นธรรมอันน้อมนำพระองค์ท่านไปสู่ความสำเร็จพระราชกรณียกิจสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแม้ว่าจะเป็นผลสำเร็จเพียงขั้นตอนที่ ๑ เพราะเสด็จสวรรคตเสียกลางคัน ก็มีผลเป็นการรักษาชาติไทยให้อยู่รอด เบิกทางไปสู่ความก้าวหน้าแห่งอารยสมัย และวางรากฐานให้แก่ความสำเร็จสมบูรณ์ของการสร้างประชาธิปไตยต่อไป ยังผลให้พระองค์ท่านทรงดำรอยู่ในฐานะพระบิดาแห่งประชาธิปไตยซึ่งเป็นเงื่อนไขอันสำคัญที่สุดให้ทรงสถิตอยู่ในดวงใจของพสกนิกรอันพร้อมกันถวายพระราชมัญญาว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช”
วันนี้ เป็นวันปิยมหาราช ขบวนการกรรมกรไทย ขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยร่วมใจพร้อมเพรียงกันถวายราชสักการะด้วยปฏิบัติบูชา โดยสืบทอดพระราชกรณียกิจสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ค้างอยู่ให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์
ทั้งนี้ จะเป็นไปด้วยการเจริญรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ในการปลูกฝังความเป็นนักประชาธิปไตย โดยเฉพาะคือจิตใจแห่งความเป็นธรรม ให้เจริญงอกงามขึ้นในกมลสันดาน เพราะว่าระบอบประชาธิปไตยคือการปกครองที่ถือประโยชน์ของประชาชนเป็น
ใหญ่ และประโยชน์ของประชาชนย่อมสอดคล้องกับความเป็นธรรมเสมอไป ฉะนั้นระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นการปกครองที่ถือธรรมเป็นใหญ่ ซึ่งเรียกว่า ธรรมาธิปไตย
ฉะนั้น จึงต้องมีนักประชาธิปไตยที่เจริญรอยตามพระยุคลบาทสมเด็จพระปิยมหาราชพระบิดาแห่งประชาธิปไตย ในการปลูกฝังจิตใจแห่งความเป็นธรรมเท่านั้น จึงจะสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทย จึงจะสร้างการปกครองธรรมาธิปไตยในประเทศไทย ให้เป็นผลสำเร็จขึ้นได้
และความสำเร็จของการปกครองธรรมาธิปไตยในประเทศไทย จะเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เป็นแบบฉบับของโลก เพราะเป็นระบอบประชาธิปไตยที่คนไทยสร้างขึ้นตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาซึ่งโลกียธรรมตั้งอยู่บนรากฐานของโลกุตตธรรม อันไม่เพียงแต่นำโลกไปสู่สันติภาพถาวรเท่านั้น หากยังจะนำมนุษยชาติไปสู่สันติสุขนิรันดร อีกด้วย