"ธนุ ลงพื้นที่จับมืออาชีวะเอกชนพาเดินไปด้วยกัน ป้องกันปัญหานักศึกษาเชิงรุก"
7 พฤศจิกายน 2565
ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ลงพื้นที่ตรวจติดตามนโยบายสถานศึกษาปลอดภัย พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจ ผู้บริหารสถานศึกษาครูฝ่ายปกครอง บุคลากร และนักเรียนนักศึกษา ในการดูแลความปลอดภัยสถานศึกษา ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีสมุทรปราการ (ช.เทค) จังหวัดสมุทรปราการ และวิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงเทพ หรือกรุงเทพช่าง จากกรณีเกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
โดยว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ ได้กล่าวว่านางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีความห่วงใยต่อความปลอดภัยของนักเรียนนักศึกษา ได้มอบหมายให้จัดตั้งศูนย์ความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (ศป.สอศ.) โดยมีนายทวีศักดิ์ คิ้วทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ เพื่อเป็นศูนย์กลางช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายสถานศึกษาปลอดภัย ซึ่งเป็นนโยบายและจุดเน้นที่สำคัญของนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ การเดินทางลงพื้นที่มาในวันนี้ก็เพื่อติดตามแผนการดำเนินงานซึ่งสถานศึกษาได้มาประชุมวางแผนร่วมกันกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้เกียรติมาร่วมประชุมด้วย พร้อมกับสถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เครือข่ายต่างๆ ไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆในพื้นที่ด้วย
ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวต่อไปว่าการมาลงพื้นที่ในวันนี้โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรให้ปัญหาเรื่องความรุนแรงหายไปโดยเร็วที่สุด เพราะทั้งอาชีวะรัฐและเอกชนลงเรือลำเดียวกัน ก็ต้องจับมือมุ่งมั่น จริงใจ ตั้งใจแก้ปัญหาเรื่องนี้ไปด้วยกัน การลงพื้นที่ในวันนี้ตนได้กำชับให้ สถานศึกษาปฏิบัติตามหลัก 3 ป. คือ ป้องกัน ปลูกฝังและปราบปราม ให้สถานศึกษาเน้นเรื่องของการป้องกัน ปลูกฝังเป็นสำคัญ หากจำเป็นต้องปราบปรามให้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช้ระเบียบกฎหมายอย่างเด็ดขาด เพราะนักศึกษาที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายกันนั้นทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือถึงขั้นเสียชีวิต และทำให้ภาพลักษณ์โดยรวมของอาชีวศึกษาเสียหายมาก ซึ่งในเรื่องนี้ตนได้พูดคุยหารือกันกับทางสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (สบอท.) และสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ให้ช่วยประสานกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย หรือสื่อมวลชน นักข่าว เพื่อหารือในการช่วยกันป้องกันและแก้ปัญหาความรุนแรงในสถานศึกษาตามหลัก 3 ป ป้องกัน ปลูกฝัง ปราบปราม การนำเสนอข่าวกิจกรรมที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี ส่วนข่าวที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง เหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาซึ่งมีเป็นส่วนน้อยมากนั้น ส่งผลกระทบต่อภาพรวมซึ่งมีสถานศึกษาอาชีวะภาครัฐภาคเอกชนทั่วประเทศ 900 กว่าแห่งที่มีผลงานดีเด่น เขาตั้งใจทำแต่ในสิ่งที่ดีงาม รวมไปถึงกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนหรือภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศด้วย
ว่าที่ร้อยตรีธนุ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าสถานศึกษาทั้ง 2 แห่ง ซึ่งอยู่ในกลุ่มป้องกันเหตุสวนหลวง ร.9 ที่ตนได้มาเยี่ยมในวันนี้ได้เสนอแผนป้องกันเหตุระบบการดูแลนักเรียนนักศึกษาเป็นรายบุคคลและมีแผนป้องกันเหตุปกติและกรณีฉุกเฉินร่วมกัน ดำเนินการตามมาตรการซึ่งตนได้สั่งการสถานศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน ไปแล้วเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในกลุ่มสวนหลวง ร 9 นี้มีนายสมพร ชูทอง
ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ ประธานอาชีวศึกษาจังหวัดสมุทรปราการเป็นประธานกลุ่ม ก็ได้ดำเนินการตามหลัก 3 ป และมาตรการต่างๆทั้งหมด แต่ตนได้เน้นย้ำให้ทำงานเชิงรุกเข้มข้นมากยิ่งขึ้น รวมถึงนำเอานักจิตวิทยาหรือครูอนามัย โดยให้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข มาให้คำปรึกษานักเรียนนักศึกษาด้วย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก