ขว้างงูไม่พ้นคอ ....จากบอลโลกถึงดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค”
ยังคงเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น Talk of the Town
กับเรื่องของ “ลิขสิทธิ์บอลโลก 2022” ที่ทำเอาคอบอลไทย “หายใจไม่ทั่วท้อง” ต้องลุ้นระทึกไปถึงวินาทีสุดท้ายของพิธีเปิดการแข่งขันในวันที่ 20 พ.ย.นี้ว่า ประเทศไทยเราจะตกขบวนไม่ได้ดุบอลโลกกันจริงๆ หรือยังพอมีโอกาสได้ดูบอลโลกสมใจอยาก เพราะจนถึงวินาทีนี้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ยังคงไม่สามารถระดมทุนเพื่อจ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่ตั้งไว้แพงจมหูถึง 1600 ล้านบาทได้
นัยว่าเรื่องของเรนื่องเพราะหลังกฎเหล็ก ”มัสต์แฮฟ -มัสต์ แครี่” ของ กสทช. ทำพิษ! ทำให้ไม่มีเอกชนรายใดกล้าลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลกจาก FIFA มาทำตลาด เพราะเจอกฎเหล็ก “Must Carry” ที่บังคับให้ต้องถ่ายทอดผ่านฟรีทีวี และต้องให้คนไทยได้ดูมหกรรมกีฬาโลกในทุกแพลตฟอร์มด้วยอีก จึงไม่มีนักลงทุนรายไหนอยากเอาตัวไปเสี่ยง
สุดท้าย กสทช.ที่ตั้งกฎเหล็กขึ้นมาแทรกแซง บิดเบือนกลไกตลาดเองต้อง “วิ่งพล่าน”ควานหาอำนาจในการถลุงงบ “กองทุนวิจันและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ”หรือกองทุนกทปส.มาช่วยเหลือกกท.จ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่ว่านี้ แต่ก็เจียดงบไปให้ได้แค่ 600 ล้านบาท ที่เหลือกกท.ยังต้องดิ้นรนไปหาทางออกเอาเอง
กระนั้นกระแสคัดค้านของนักวิชาการก็ดาหน้าถล่ม กสทช.ต่อการถลุงงบกองทุนกทปส.นำเอาเม็ดเงินภาษีประชาชนไปถลุงกับกีฬาที่ประเทศไทยไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสแม้แต่น้อย ทั้งยังก่อให้เกิดคำถามต่อการที่บอร์ด กสทช.อนุมัติเงินกองทุนกทปส.ไปลงขันซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกที่ว่านี้เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ เป็นการใช้เงินกองทุนเหมาะสมหรือไม่และเอาอำนาจอะไรไปรองรับ
ยิ่งเมื่อเทียบกับกรณีดีลควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคที่กฎหมาย คือพรบ.กสทช.กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช.อย่างแท้จริง แต่กสทช.กลับอ้างว่าตนเองไม่มีอำนาจพิจารณาดีลควบรวม ทำได้เพียงการ “รับทราบ”รายงานการควบรวมกิจการ”ที่ไม่ถือว่าเข้าข่ายการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกันที่ต้องขออนุมัติจาก กทช. ทั้งที่ก่อนหน้า กสทช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาปัญหาข้อกฎหมาย และสอบถามอำนาจหน้าที่ตนเองไปทั่วทุกสารทิศมาหมดแล้ว
ผลพวงจากการไฟเขียวดีลควบรวมธุรกิจราวกับถูกเขียนบทให้มา จนทำให้กลายเป็นมหกรรม “ขว้างงูไม่พ้นคอ” จ่อ“เรียกแขกให้งานเข้า” เป็นรายวันอยู่เวลานี้ ไหนจะถูกสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) และเครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการร่วมกันยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนมติอัปยศดังกล่าว ไหนจะถูกร้องต่อป.ป.ช.เพื่อดำเนินการไต่สวนเอาผิดการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของ กสทช.และไม่รู้จะต้องเผชิญวิบากกรรมอะไรตามมากันอีก!
*ถอดบทเรียน กสทช.กับ BFKT ไม่อยู่ในกำกับ
ในอดีตเมื่อปี 2555-2556 ในช่วง“สุญญากาศ” 3 จีที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกทยอยเปิดให้บริการ 3 จีกันไปกว่าค่อนโลก แต่เมืองไทยเรากลับยังคงมะงุมมะงาหรา ไม่สามารถจัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการ 3 จีได้ตาม “ไทม์ไลน์” ที่วางไว้ ทำให้เราล้าหลังประเทศอื่น ๆ ไปถึง 4-5 ปี และแทบจะเป็นประเทศสุดท้ายของโลกที่เปิดให้บริการ 3 จี
ห้วงเวลานั้น บริษัทเรียลมูฟในเครือทรูคอร์ปอเรชั่น ได้ดอดไปทำสัญญาทางการตลาดกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม เพื่อช่วงชิงจังหวัดเปิดให้บริการ 3 จีบนคลื่นความถี่ 850 MHz ด้วยเทคโนโลยีบีบอัดสัญญาณ HSPA ก่อนใครเช่นเดียวกัน โดยใช้บริษัทลูกอีกราย คือ บริษัทบีเอฟเคที(ประเทศไทย) จำกัด หรือ BFKT เป็นผู้จัดสร้างโครงข่าย 3 จีให้ กสท เช่าใช้ก่อนให้บริษัทเรียลมูฟเหมาโครงข่ายไปทำการตลาด 3 จีอีกทอด
เป็นสัญญาทางการตลาดที่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนหน่วยงานตรวจสอบต่างๆ เท่าที่มีอยู่ในประเทศไทยในเวลานั้นต่างล้วงลูกลงมาร่วมกันตรวจสอบหัวกระไดไม่แห้งและต่างสรุปว่าผิดกฎหมายสารพัด จนถึงขั้นยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.เชือดผู้เกี่ยวข้องกันกราวรูด สุดท้ายกลับเป็นคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) ในกสทช.ที่ “ไฟเขียว”สัญญาทางการตลาด 3 จี HSPA ที่ว่านั้นท่ามกลางกระแสคัดค้านจากนักวิชาการและหน่วยงานตรวจสอบรอบด้าน เช่นเดียวกับกรณีการไฟเขียวดีลควบรวมสุดอื้อฉาวที่เป็นอยู่ในเวลานี้
ผู้คนในสังคมต่างตั้งข้อกังขากกับมติคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.)ในเวลานั้นที่ชี้ขาดว่า การที่ลบริษัทลูก BFKT ของกลุ่มทรูคอร์ปจัดสร้างและให้เช่าโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จีบนคลื่นความถี่ 850 MHz ให้แก่บมจ. กสทโทรคมนาคมนั้นแม้จะต้องลงทุนจัดตั้งโครงข่ายมือถือด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท แต่เมื่อเป็นการจัดสร้างเพื่อให้ กสท.เช่าใช้เพียงรายเดียว จึงไม่ถือเป็นการให้บริการโทรคมนาคมตามมาตรา 4 และถือเป็นกิจการ “นอกกำกับ”ของ กสทช.
ก่อนที่ในท้ายที่สุดมติ กทค.ดังกล่าวจะย้อนรอยกลับมาทิ่มแทง กสทช.เต็มเปา! เมื่อวันดีคืนดี กสทช. ได้ออกประกาศ กสทช.ว่าด้วยการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันสำหรับโครงข่ายมือถือ (Infra-structure sharing) และประกาศหลักเกณฑ์จัดเก็บค่าธรรมเนียมบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม(USO) เมื่อ 19 เม.ย.56 เพื่อรองรับการเปิดให้บริการ 3จี บนคลื่นความ ถี่ 2.1 GHz ของผู้ประกอบการ
แต่ปัญหาก็คือ ในเมื่อบอร์ด กทค.ชี้ขาดไปก่อนหน้าว่า การจัดสร้างและให้เช่าโครงข่ายมือถือของ BFKTให้ กสท เช่าใช้ "ไม่ถือว่าเป็นการให้บริการโทรคมนาคม" ตามมาตรา 4 จึงไม่เข้าข่ายเป็นกิจการโทรคมนาคมมาตรา 46 วรรค 2 และอยู่นอกเหนือการกำกับของ กสทช. แล้ว กสทช.จะนำเอาหลักเกณฑ์จัดเก็บค่าธรรมเนียมกองทุน USO และประกาศใช้โครงข่ายร่วม Infra-structure sharing ไปบังคับใช้กับกิจการที่ไม่อยู่ในกำกับ กสทช.ได้อย่างไร?
และนัยว่าผลพวงจากการตีกรรเชียง เลี่ยงบาลี กฎหมายตนเองในครั้งนั้นดื้ทำให้รัฐและกสทช.ต้องสูญเสียเม็ดเงินค่าธรรมเนียมต่างๆไปร่วม 10,000ล้านโดยที่ยังจับมือใครดมไม่ได้เลย
เช่นเดียวกับกรณีการไฟเขียวอนุมัติดีลควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคของ กสทช.ล่าสุดเมื่อ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ด้วยข้ออ้าง กสทช.ไม่มีอำนาจพิจารณา ทำได้พียงการ “รับทราบ” รายงานการควบรวมกิจการ โดยไม่ถือว่าเป็นการถือครองธุรกิจที่เข้าข่ายต้องขออนุญาตจาก กสทช. ทำให้ กสทช.ทำได้เพียงการนำมาตรการเฉพาะเพื่อบรรเทาผลกระทบจากดีลควบรวมธุรกิจดังกล่าวมาใช้เท่านั้น ก่อนที่ กสทช.จะพิจารณากำหนดมาตรการเฉพาะจำนวน 14 ข้อ ออกมา
ท่ามกลางข้อกังขาจากสังคม ในเมื่อกรณีดีลควบรวมธุรกิจข้างต้นนั้น กสทช.ระบุเองว่าไม่มีอำนาจพิจารณา ทำได้เพียงแค่รับทราบการรายงานการควบรวมธุรกิจจากเอกชนเท่านั้น เพราะไม่ถือว่าเป็นดีลควบรวมธุรกิจที่ต้องขออนุญาตจาก กสทช.แล้ว กสทช.จะสามารถนำเอามาตรการเฉพาะมายังคับใช้แก่กิจการที่อยู่นอกกำกับ กสทช.ได้อย่างไร?
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาชนลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยว ฟ้องกสทช.ทั้งต่อศาลปกครอง และ ป.ป.ช.อยู่เวลานี้ และหากศาลปกครองชี้ขาดว่า คำสั่งอนุมัติดีลควบรวมก่อนหน้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ไม่เพียงบอร์ด กสทช.จะต้องโดยเช็คบิลยกกระบิแล้ว สองบริษัทสื่อสารยักษ์ก็หนีไม่พ้นวิบากกรรมที่จะต้องถูกลงโทษทั้งแพ่งและอาญาตามมาเช่นกัน !!!