กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เปิดท่าเรือราชินี - บางโพ ของขวัญปีใหม่ 2566 พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย สู่อนาคต โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และคณะครู นักเรียนโรงเรียนราชินีและโรงเรียนวัดราชบพิตร ร่วมพิธี ในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2565 ณ ท่าเรือบางโพ แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
จากนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงคมนาคม โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า ที่มีภารกิจหน้าที่ในการกำกับ ดูแลรักษาความปลอดภัยทางน้ำ ควบคู่ไปกับการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ให้พร้อมบริการ และมีมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 2561-2580 พัฒนายกระดับท่าเรือให้เป็นสถานีเรือ
ทั้งในส่วนของท่าเรือ ตัวเรือ ตลอดจนพัฒนาระบบการให้บริการรองรับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นทั้ง ล้อ-ราง-เรือ เพื่อสร้างทางเลือกในการเดินทางของประชาชนแบบไร้รอยต่อ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย เป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมเจ้าท่า ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมทางน้ำ ให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย เชื่อมโยงโครงข่ายล้อ-ราง-เรือ อย่างไร้รอยต่อ ได้ดำเนินงานตามแผนงาน โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการขนส่งทางน้ำ เพื่อตอบสนองเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 2562 ถึง 2568 ที่จะพัฒนายกระดับท่าเรือให้เป็นสถานีเรือ ทั้งในส่วนของท่าเรือ ตัวเรือ ตลอดจนพัฒนาระบบการให้บริการรองรับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นทั้ง ล้อ-ราง-เรือ เพื่อสร้างทางเลือกในการเดินทางของประชาชน โดยพัฒนารูปลักษณ์ท่าเรือให้มีความสวยงามตามอัตลักษณ์ เกิดเป็นจุดหมายตา (Landmark) ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาใช้ในการควบคุม และบริหารจัดการบนเรือและท่าเรือ ตามแผนพัฒนาท่าเรือสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 29 แห่ง ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จ เปิดใช้งานแล้ว จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า ท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือท่าช้าง ท่าเรือสาทร และท่าเรือพายัพ ปัจจุบัน แล้วเสร็จเพิ่มในปี 2565 จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือราชินี ท่าเรือบางโพ และที่จะแล้วเสร็จเพิ่มในปี 2566 อีกจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือท่าเตียน ท่าเรือพระราม 7 และท่าเรือเกียกกาย ซึ่งการเปิดท่าเรือทั้งสองแห่งในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดี ที่กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จะได้มอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 เพื่อบริการขนส่งทางน้ำที่ปลอดภัย สะดวก สบาย ให้แก่ผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงได้ อย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน
สำหรับท่าเรือราชินี และท่าเรือบางโพ ถือเป็นท่าเรือที่มีความสำคัญ เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อของระบบล้อ-ราง-เรือ โดยท่าเรือราชินีจะเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า MRT สนามไชย สายสีน้ำเงิน เป็นจุดเชื่อมการเดินทางเข้าสู่เมืองและแหล่งท่องเที่ยว เชิงประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญที่มีความเก่าแก่เชิงประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากมาย ทั้งวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร โบสถ์ซางตาครู้ส กุฎีจีน ป้อมวิไชยประสิทธิ์ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร มิวเซียมสยาม และปากคลองตลาด โดยการปรับปรุงพัฒนาท่าเรือราชินี ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงก่อสร้าง ด้วยงบประมาณ 30.30 ล้านบาท ได้แก่ 1.ก่อสร้างอาคารพักผู้โดยสาร 2 ชั้น พื้นที่ 1,277 ตารางเมตร พร้อมพื้นที่ดาดฟ้าหลังคา ให้เป็นลานกิจกรรมใช้ประโยชน์เป็นจุดชมวิวริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมตกแต่งภายในบริเวณอาคารพักคอยเน้นความเป็นไทย มีระบบควบคุมและการให้บริการที่ทันสมัย 2.ก่อสร้างทางเดินเชื่อมท่าเรือกับพื้นที่บนฝั่งจุดเชื่อมต่อทางขึ้นสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย พร้อมซุ้มประตูทางเข้าท่าเรือให้มีความเป็นเอกลักษณ์ และ 3.ก่อสร้างโป๊ะเทียบเรือ ขนาด 9×24 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับขึ้นลงโป๊ะเทียบเรือ จำนวน 1 โป๊ะ ในส่วนท่าเรือบางโพจะเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า MRT บางโพ สายสีน้ำเงิน และอยู่ใกล้ทางด่วนศรีรัช เป็นจุดเชื่อมการเดินทางเข้าสู่เมืองและสถานที่สำคัญ ที่มีความเก่าแก่ คือ ย่านค้าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งซื้อ-ขายเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยตั้งแต่อดีต และสถานที่ท่องเที่ยวตามวิถีชีวิตที่ทันสมัย เช่น ห้างสรรพสินค้าเกตเวย์ บางซื่อ (Gateway Bangsue) ศูนย์กลางชอปปิงพร้อมรับอนาคตชุมชนเมืองใหญ่ เป็นต้น โดยการปรับปรุงพัฒนาท่าเรือบางโพ ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงก่อสร้าง ด้วยงบประมาณ 44.9 ล้านบาท ได้แก่ 1.ก่อสร้างอาคารพักผู้โดยสาร 2 ชั้น พื้นที่ประมาณ 1,407 ตารางเมตร และ 2.โป๊ะเทียบเรือรูปตัวแอลขนาด 9.4×24 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับ จำนวน 1 ชุด เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 2 ท่าเรือ จะสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น เพื่อสร้างทางเลือกในการเดินทาง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การเปิดท่าเรือราชินี และท่าเรือบางโพ อย่างเป็นทางการ ในครั้งนี้ จะสอดรับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ที่จะพัฒนาการให้บริการท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการ ให้มีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดในการเดินทาง ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่น (ล้อ-ราง-เรือ) ได้อย่างไร้รอยต่อ ช่วยลดปัญหาการคับคั่งของการจราจรทางบก ลดระยะเวลาในการเดินทาง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำและสร้างภาพลักษณ์การเดินทางของประเทศต่อไป โดยภายในงานเปิดท่าเรือราชินี และ ท่าเรือบางโพ ได้จัดให้มีนิทรรศการ ที่สื่อถึงความเป็น Center Pier ของท่าบางโพที่เชื่อมโยง การเดินทางของประชาชน ทั้ง 3 รูปแบบ ล้อ-ราง-เรือ ที่เชื่อมกันอย่างราบรื่น รวมถึงความ Smart ของการใช้บริการบริเวณท่าเรือ ที่เชื่อมต่อกับ Smart Phone หรือ บัตร HOP เข้ากับยุคสังคมไร้เงินสด ภายใต้แนวคิด ท่าเรือ ที่เป็นมากกว่าท่าเรือ และเป็นท่าเรือ ที่สร้างขึ้นบนพื้นที่ประวัติศาสตร์ สามารถเชื่อมต่อการเดินทางสู่ระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ เตรียมพร้อมมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 ให้ประชาชน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยสู่อนาคต ยกระดับการขนส่งทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป//
ฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมเจ้าท่า