"อาชีวะยิ้ม สัญญาณดี
ส.ส. และ ส.ว. ในรัฐสภาตอบรับ ม.71"
10 มกราคม 2566
นายทวีศักดิ์ คิ้วทอง นายกสมาคม ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (สบอท.) กล่าวว่าทางสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (สบอท.) ร่วมกับเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) พร้อมด้วยตัวแทนผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา ศิษย์เก่า และพี่น้องชาวอาชีวะจากหลายภาคส่วน ได้ไปยื่นหนังสือต่อท่าน ส.ว. และ ส.ส. ช่วยสนับสนุนในการแก้ไขร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...
ในการพิจารณากฎหมายวาระที่ 2 การพิจารณาร่างกฎหมายรายมาตรา ของรัฐสภา เพื่อให้มีการบัญญัติเรื่องของการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา ในร่าง พรบ.การศึกษาฉบับใหม่ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาในระเบียบวาระที่ 2 อยู่ในขณะนี้ ในด้านอาชีวศึกษา เพื่อให้มีบทบัญญัติในกฎหมายฉบับนี้ที่ว่าด้วยการอาชีวศึกษาที่ชัดเจนไว้ในมาตรา 71 ณ อาคารรัฐสภา ซึ่งนายทวีศักดิ์ ได้กล่าวว่าเมื่อวานนี้ทางคณะที่ไปพอใจและประทับใจมาก รวมทั้งพี่น้องชาวอาชีวะทั้งประเทศฝากขอบคุณท่าน ส.ว. และ ส.ส. อย่างยิ่ง
ในการเดินทางไปรัฐสภาเมื่อวานนี้ทางท่าน ส.ว. และ ส.ส. ทุกพรรคการเมืองให้เกียรติต้อนรับอย่างดี และมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่รัฐสภาว่าพร้อมจะช่วยเหลือสนับสนุน ให้มีการระบุข้อความเรื่องการจัดอาชีวศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ตามที่ทางสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาแห่งประเทศไทย(สบอท.) และเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย(ค.ร.อ.ท.) และชาวอาชีวะได้ร้องขอ และขอให้ติดตามในการพิจารณากฎหมายการศึกษาฉบับใหม่นี้ต่อไป
นายทวีศักดิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าตนอยากขอฝากไปยังท่าน ส.ว. และ ส.ส. ว่ายังมีในส่วนที่ทางกระทรวงศึกษาธิการโดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความเห็นต่อร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… ไปก่อนหน้านี้ว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และรัฐบาลเห็นว่ายังมีบางประเด็นอาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติได้ จึงอยากให้ทาง ส.ส. และ ส.ว. ช่วยพิจารณาในประเด็น 4 ประเด็น ดังนี้ด้วย คือ
ประเด็นที่ 1 การจัดการศึกษาโดยผู้ปกครอง (Home School) ในมาตรา 13 ควรให้ ศธ.ส่งเสริม สนับสนุน กำกับ ติดตาม ประเมินผล ตามที่คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติกำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ
ประเด็นที่ 2 ให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล ในมาตรา 20 ควรให้สถานศึกษาเฉพาะสังกัด ศธ.เป็นนิติบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาของรัฐในแต่ละสังกัด
ประเด็นที่ 3 การสรรหาและคุณสมบัติของผู้บริหารสถานศึกษา ในมาตรา 40 นั้น ผู้บริหารสถานศึกษานอกจากเคยเป็นครูและรองผู้บริหารแล้ว ต้องมีความรู้เรื่องบริหารการศึกษา และให้คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ เป็นผู้กำหนดแนวทางการสรรหาและพัฒนาผู้บริหาร เพื่อให้ได้ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีศักยภาพและไม่ทำให้เกิดภาระแก่คณะกรรมการสถานศึกษาเกินสมควร
ประเด็นที่ 4 ให้บุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาได้รับเงินวิทยฐานะ ควรกำหนดให้ชัดเจนในมาตรา 41 เพื่อมีความชัดเจนว่าบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เคยได้รับเงินวิทยฐานะอยู่แล้วในปัจจุบันยังคงได้เงินวิทยาฐานะเช่นเดิม