"นายกสมาคมผู้บริหารอาชีวะ ปลุก ! ผู้บริหารภาคเหนือร่วมผลักดัน นโยบายอาชีวะ และร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติ ย้ำอาชีวะต้องมีที่ยืน"
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566
นายทวีศักดิ์ คิ้วทอง นายกสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย(สบอท.) กล่าวเปิดเผยว่าการประชุมวิชาการภาคเหนือ ณ หอประชุมวิทยาลัยเทคนิคลำพูน โดยว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง ร่วมประชุมวิชาการ ปัจจุบันสู่อนาคตการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถภาพสูง เพื่อพัฒนาประเทศ “สื่อสาร ส่งเสริม สู่การปฏิบัติ” ภาคเหนือ ถือเป็นมิติใหม่และเป็นนิมิตรใหม่ที่ดีมากที่ผู้บริหารระดับสูงของอาชีวะส่วนกลางเดินทางลงพื้นที่มาพบปะสื่อสารกับผู้บริหารสถาบันการอาชีวศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ของภาคเหนือ เพื่อพูดคุยหารือเกี่ยวกับนโยบายสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาภายใต้วิสัยทัศน์ “ผลิตและกำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถภาพสูง เพื่อพัฒนาประเทศ” และแนวคิดประเทศไทยมั่นคง ร่ำรวย ด้วยมืออาชีวะ นั้น
ทางสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (สบอท.) เห็นด้วยอย่างยิ่งและพร้อมสนับสนุน ผู้บริหารส่วนกลาง และผู้บริหารในพื้นที่ ในการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอาชีวะขับเคลื่อนผ่านนโยบายเร่งด่วน 9 Qick Win และ 5 นโยบายหลัก ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ เพื่อที่จะยกระดับการจัดการอาชีวศึกษา ในระดับภูมิภาค ต่อไป
นายทวีศักดิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมในประเด็นร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในขณะนี้ว่าสมาคมฯ ได้ร่วมกับเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) และสมาชิกทั่วประเทศนัดหมายกันแล้วจะเข้ายื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภา พรรคการเมืองต่างๆ และสมาชิกรัฐสภา อีกครั้ง ในวันที่ 10 มกราคม นี้ เวลา 09:00 น ณ อาคารรัฐสภา ก่อนที่สภาจะนำร่างเข้าพิจารณาที่ประชุมร่วมของรัฐสภา
โดยสาระสำคัญเพื่อต้องการให้ร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ในฐานะที่เป็นกฎหมายแม่ด้านการศึกษา เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการศึกษาหลายภาคส่วน และยังวางหลักเกณฑ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายลูก ด้านการศึกษา ที่จะออกมาอีกประมาณ 13 ฉบับ เป็นกฎหมายด้านการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 258 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เวลานี้ประชาชนทุกภาคส่วนมีความหวังให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการการศึกษาของประเทศมาก โดยเฉพาะด้าน อาชีวศึกษาซึ่งจะต้องผลิตกำลังคนมีทักษะฝีมือมีเจตคติที่ดีต่อในการทำงานเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและในการพัฒนาประเศ แต่ร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่นี้ ไม่ได้มีการเขียนกฎหมายในส่วนของการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษาให้ชัดเจนเพียงพอ
ซึ่งที่ชาวอาชีวะได้รับฟังความคิดเห็นในส่วนของผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษา ครู บุคลากรนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง สถานประกอบการ ผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วนมีความเห็นที่สอดคล้องตรงกันว่าจะเสนอเพิ่มเติมให้มีการบัญญัติในเรื่องของการอาชีวศึกษาซึ่งต้องออกเป็น กฎหมายอาชีวะโดยเฉพาะ ทางสมาคมฯจึงรวมพลังกันไปยื่นเสนอให้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับนี้โดยเฉพาะในมาตราที่ 71 และ 72 หรือในมาตราใดมาตราหนึ่งในเรื่องของการจัดการอาชีวศึกษาไว้เป็นการเฉพาะเหมือนใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ฉบับปัจจุบันนี้ ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 20 โดยเสนอให้ออกเป็น พรบ.การอาชีวศึกษา ภายหลังจากที่กฎหมาย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ผ่านรัฐสภาแล้ว