เกษตรกรอุทัยธานีเตรียมเฮ! วช.ร่วมกับ GISTDA นำเทคโนโลยีช่วยประเมินความเสี่ยงปัญหาภัยแล้ง
16 มี.ค. 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) หรือ GISTDA ลงพื้นที่ไร่อ้อย และไร่มันสำปะหลัง โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. นำโดย ดร.สมชาย ใบม่วง และนักวิจัย GISTDA พร้อมด้วยคณะสื่อมวลชน นำเทคโนโลยีโดรนสำรวจพื้นที่ภัยแล้งภาคการเกษตร ที่บ้านไผ่เขียว หมู่ที่ 20 ตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี
ดร.สมชาย ใบม่วง ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. เปิดเผยว่า วช. ได้สนับสนุนการวิจัยให้ GISTDA ดำเนินการทำแพลตฟอร์ม “การประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลงจากแบบจำลอง ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” เพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงภัยแล้งเพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงภัยแล้ง โดยเลือกพื้นที่อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องใช้แพลตฟอร์ม ประเมินความเสี่ยง เนื่องจากมีจำนวนประชากรร้องขอความช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งเป็นจำนวนมาก
ด้านนายขวัญชัย วงษ์วิทยา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ทึ่ 20 ตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี หนึ่งในเกษตรกรบ้านไผ่เขียว กล่าวถึงเครื่องตรวจสอบระบบติดตามพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งว่า ตนคาดว่าหลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกับเครื่องตัวนี้และแอปพลิเคชั่น “เช็คแล้ง” จะมีประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะได้รู้ถึงความชื้นของพื้นดินในแปลงไร่ ว่าเหมาะต่อการลงพืชผลหรือไม่ สำหรับผู้ใหญ่มีพื้นทำการเกษตรทั้งหมด 50 ไร่ ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง โดยพบ 20 ไร่ที่อยู่บนที่สูงบนเนินหรือความชื้นไม่ถึง จะเกิดภัยแล้ง โดยหมู่ที่ 20 บ้านไผ่เขียวมีแปลงอ้อยและมันสำปะหลังอยู่ประมาณ 1,500 ไร่ ซึ่งตนคิดว่าเทคโนโลยีจะนำไปช่วยเหลือชาวบ้านได้อย่างมาก และลดต้นทุนในการปลูกพืชอีกด้วย
ทั้งนี้ คณะ ผู้ทรงคุณวุฒิ และ สื่อมวลชน ได้เข้าร่วมการประชุมและอบรมเชิงปฏิบัติการ แพลตฟอร์ม “การประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลงจากแบบจำลอง ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” ภายใต้การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม จาก วช.
โดยมี นายธนัท ลิ้มสมบูรณ์ นายอำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี เป็นประธานเปิดการประชุม เพื่อให้หัวหน้าส่วนราชการภาคเกษตรในอำเภอสว่างอารมณ์ ได้เรียนรู้และฝึกทักษะการใช้แอปพลิเคชั่น “เช็คแล้ง” ที่แม่นยำต่อการติดตามระบบภัยแล้ง โดยเกษตรกรสามารถโหลดแอปพลิเคชั่น “เช็คแล้ง” ได้ทั้งระบบ Android และ ios เพื่อติดตามภัยแล้งของพืชเกษตร ผ่านข้อมูลดาวเทียมรายละเอียดสูง หรืออีกแพลตฟอร์มผ่านทางเว็บไซต์ https://cropsdrought.gistda.or.th