กฟผ. ผสานพลัง 5 บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น ร่วมมือศึกษาและพัฒนา ‘ไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาด ครบวงจร-ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ-พัฒนา BESS’ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด หนุนลดปล่อยคาร์บอนภาคผลิตไฟฟ้า สร้างความมั่นคงทางพลังงานควบคู่สิ่งแวดล้อมที่ดี ร่วมผลักดันประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และสร้างความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศโลก
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายนิชิมุระ ยาสึโทชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยนายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. กับ นายโทโมอากิ อิชิดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิตซุย โอ.เอส.เค ไลน์ จำกัด นายคิมิโฮะ ซากุราอิ รองผู้อำนวยการ บริษัท ชิโยดะ คอร์ปอเรชั่น และ นายโชอิจิ โอกิวาระ ประธานบริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อศึกษาและพัฒนาโครงการไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดครบวงจร รวมถึง MOU เพื่อศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ กับ นายฮิโรโนบุ อิริยะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) และ MOU เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) กับนายโคจิ ทาเคดะ เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง บริษัท IHI Corporation ในการประชุม 1st Asia Zero Emission Community Ministerial Meeting ซึ่งจัดขึ้นโดยรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2566 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมี นายประจวบ ดอนคำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ กฟผ. และ นายนรินทร์ เผ่าวณิช ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารเชื้อเพลิง กฟผ. เข้าร่วมงาน
นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับเทรนด์พลังงานโลกที่เปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาด จึงได้แสวงหาเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่สำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยไฮโดรเจน และแอมโมเนีย เป็นเชื้อเพลิงแห่งอนาคตที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างเผาไหม้ ขณะที่เชื้อเพลิงชีวภาพเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ BESS เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ความร่วมมือใน MOU ทั้ง 3 ฉบับจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางเทคโนโลยีจากบริษัทชั้นนำในระดับสากลนำไปสู่การขับเคลื่อนเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ การนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ยังช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี และความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศโลกในอนาคต นับเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทย
ทั้งนี้ กฟผ. ตั้งเป้าหมายสนองตอบนโยบายภาครัฐในการร่วมนำประเทศมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 โดยขับเคลื่อนภายใต้กลยุทธ์ ‘Triple S’ ได้แก่ 1) Sources Transformation เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงโรงไฟฟ้า และระบบไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีใหม่รองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และนำ BESS มาใช้งาน 2) Sink Co-creation เพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอน เดินหน้าโครงการปลูกป่าล้านไร่ รวมถึงศึกษาการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการกักเก็บคาร์บอน และ 3) Support Measures Mechanism ส่งเสริมการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในภาคประชาชน ผ่านโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร เป็นต้น
#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย————————————————————