วช. หนุนทีมวิจัย มสธ. มก. และ ทช. ศึกษาระบบนิเวศ โครงการสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 จังหวัดจันทบุรี
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้การสนับสนุนทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ศึกษาวิจัยระบบนิเวศป่าชายเลน บริเวณพื้นที่โครงการสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 จังหวัดจันทบุรี เพื่อสำรวจและศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์ไม้ สัตว์ป่า แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ สัตว์หน้าดินและสัตว์น้ำ รวมถึงลักษณะทางนิเวศ เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์การเจริญเติบโตของไม้ป่าชายเลน สภาพทางอุทกวิทยา และปฐพีวิทยาในสวนป่าชายเลน ประเมินการกักเก็บคาร์บอนของป่าชายเลนในพื้นที่โครงการ ศึกษาแนวทางการสร้างความตระหนักและเพิ่มศักยภาพชุมชนท้องถิ่นโดยรอบพื้นที่โครงการในการมีส่วนร่วมบริหารจัดการป่าชายเลนและทรัพยากรชายฝั่ง ตลอดจนศึกษาแนวทางการฟื้นฟูและเสริมสร้างระบบนิเวศป่าชายเลน ในพื้นที่โครงการอย่างยั่งยืน ในโครงการสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 จังหวัดจันทบุรี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นกลไกสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนให้การสนับสนุนงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้นหรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมของป่าชายเลนในปัจจุบัน พบว่าส่วนใหญ่มีสภาพเสื่อมโทรม ทั้งนี้เนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น การนำทรัพยากรมาใช้ประโยชน์เกินกำลังของธรรมชาติจะผลิตทดแทนได้ การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งก่อสร้าง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพนิเวศป่าชายเลนโดยตรง ในขณะเดียวกันพบว่า ปัจจุบันมีหลายชุมชน หลายองค์กรได้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าชายเลนจึงได้มีการร่วมมือกันฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ มีการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนเป็นไปในแนวทางที่ยั่งยืน ซึ่งโครงการสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 เป็นตัวอย่างโครงการหนึ่ง ที่หลายภาคส่วนได้ร่วมกันฟื้นคืนความอุดมบูรณ์ให้กับป่าชายเลน
ดร.สุธิดา มณีอเนกคุณ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยว่า โครงการวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง มสธ. ทช. และ มก. ภายใต้แนวคิด “ป่าชายเลน” เป็นทรัพยากรธรรมชาติหรือขุมทรัพย์ของชายฝั่งทะเลอย่างแท้จริง ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล สำหรับโครงการสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 ตั้งอยู่ในท้องที่บ้านเสม็ดงาม หมู่ที่ 10 ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองจันทบุรี
จังหวัดจันทบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 518 ไร่ ซึ่งโครงการสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนฯ ดังกล่าว นอกจากสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และนับเป็นสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนแห่งแรกของโลก ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม จัดแสดงพรรณไม้ป่าชายเลนจากพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของโลกและเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และแหล่งศึกษาวิจัย สร้างองค์ความรู้ในทางพฤกษศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ เป็นสถาบันแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ การใช้ประโยชน์จากพรรณไม้ป่าชายเลนที่เหมาะสมและเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) ของสหประชาชาติ วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยเพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและลักษณะทางนิเวศวิทยาของพื้นที่นากุ้งร้าง วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการเติบโตของไม้ป่าชายเลนและสภาพทางอุทกวิทยา รวมถึงปฐพีวิทยาในสวนป่าชายเลน ประเมินการกักเก็บคาร์บอนของป่าชายเลน สร้างความตระหนักเพื่อเพิ่มศักยภาพชุมชนท้องถิ่น ในการมีส่วนร่วมบริหารจัดการป่าชายเลนและทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน
ดร.สุธิดา กล่าวว่า ผลจากการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ พบพันธุ์ไม้ในป่าชายเลนธรรมชาติ จำนวน 14 วงศ์ 24 สกุล 28 ชนิด โดยพบ โกงกางใบเล็ก (Rhizophora apiculata Blume) ฝาดดอกแดง (Lumnitzera littorea (Jack) Voigt) และฝาดดอกขาว (Lumnitzera racemose) เป็นชนิดไม้เด่นในสังคม และผลการสำรวจสัตว์ป่า พบว่าสัตว์ป่าในพื้นที่มีมากถึง 149 ชนิด แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 8 ชนิด นก 120 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 14 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 7 ชนิด โดยในจำนวนนี้พบนกที่ถูกจัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered-CR) 1 ชนิด คือ นกโจรสลัดเกาะคริสต์มาส (Fregata andrewsi) ผลการศึกษาแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ สัตว์หน้าดิน และสัตว์น้ำ พบความหลากหลายมากที่สุดในพื้นที่ป่าชายเลนธรรมชาติ รองลงมาคือพื้นที่แปลงปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนปี 50 รองลงมาแปลงปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนปี 51 และพบน้อยที่สุดในพื้นที่นากุ้งร้างที่ยังไม่มีการปลูกฟื้นฟูป่าชายเลน จึงสามารถกล่าวได้ว่าระบบนิเวศป่าชายเลนภายหลังการปลูกฟื้นฟูจะมีความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น มีลักษณะใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติภายหลังจากการปลูกฟื้นฟูไปเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี
การศึกษาลักษณะทางอุทกวิทยาต่อโครงสร้างของป่าชายเลน พบว่าสามารถจัดแบ่งสภาพทางอุทกวิทยาภายในพื้นที่โครงการได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. น้ำระบายปกติ (Undisturbed) 2. น้ำระบายช้า (Impaired) 3. น้ำท่วมถึงน้อยครั้ง (Elevated) และ 4. น้ำขัง (Waterlogged) ลักษณะทางอุทกวิทยามีอิทธิพลต่อความสูงของไม้โกงกางในพื้นที่ศึกษา โดยระบบอุทกวิทยาที่ "น้ำระบายปกติ" และ "น้ำท่วมถึงน้อยครั้ง" ส่งผลให้ต้นไม้สูงมีค่าความสูงมากกว่าระบบที่ "น้ำระบายช้า" และ "มีน้ำขัง" และมีผลต่อพื้นที่หน้าตัดของต้นไม้โดยรวม
ผลการศึกษาการกักเก็บคาร์บอนของป่าชายเลน มีค่าเท่ากับ 495.49, 640.96, 695.34 และ 1,227.41 ตันคาร์บอนต่อเฮกเตอร์ จะเห็นได้ว่าบ่อกุ้งร้างมีการเก็บคาร์บอนต่ำที่สุด เนื่องจากผลของการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากป่าธรรมชาติเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง โดยมีการขุดหน้าดินออกไปส่งผลให้เกิดการปลดปล่อยปริมาณคาร์บอนสู่บรรยากาศ อย่างไรก็ตามการปลูกป่าฟื้นฟูในพื้นที่บ่อกุ้งร้างส่งผลทำให้ดินมีการกักเก็บคาร์บอนได้เพิ่มมากขึ้น โดยการกักเก็บคาร์บอนในดินมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเมื่อแปลงปลูกป่าฟื้นฟูมีอายุเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการฟื้นฟูป่าด้วยการปลูกไม้ป่าชายเลนจึงมีบทบาทสำคัญในการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่บ่อกุ้งร้าง
การศึกษาการสร้างความตระหนักและเพิ่มศักยภาพชุมชนท้องถิ่นที่อยู่รอบสวนพฤกษศาสตร์ฯ 2 แห่ง ได้แก่ ชุมชนตำบลหนองบัว อำเภอเมือง และชุมชนตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี พบว่า ชุมชนทั้งสองแห่งได้ริเริ่มฟื้นฟูป่าชายเลนจากนากุ้งร้างมาเป็นระยะเวลานานกว่า 15 ปี จนในปัจจุบันชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ป่าชายเลนหลากหลายรูปแบบทั้งไม้ใช้สอย อาหารประเภทสัตว์น้ำ และการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชนได้
ผลการศึกษาแนวทางการจัดการระบบนิเวศป่าชายเลนอย่างยั่งยืน ซึ่งจากการประชุมระดมความคิดเห็นหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาชนและเอกชนที่เกี่ยวข้อง สามารถสรุปแนวทางการจัดการระบบ นิเวศป่าชายเลนได้เป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ การจัดการระบบนิเวศป่าชายเลนของพื้นที่, การบริหารจัดการสวนพฤกษศาสตร์ และการศึกษาวิจัย ซึ่งแบ่งย่อยเป็น 18 แนวทาง โดยผลที่ได้จากการศึกษาทั้งหมดจะสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการเสริมสร้าง และสนับสนุนให้การดำเนินงานของสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งประสิทธิผลตอบสนองนโยบายที่ทางราชการกำหนดไว้ ตลอดจนใช้ในการเผยแพร่ให้ความรู้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ ก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติเป็นการต่อเนื่องสืบไป