กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ (Cannes Film Festival) ในงานแสดงสินค้า Marche du Film 2023 ระหว่างวันที่ 16 – 24 พฤษภาคม 2566 โดยผู้ประกอบการคอนเทนต์ไทยทั้ง 10 บริษัท เจรจาการค้ากวาดรายได้เข้าประเทศกว่า 1,986 ล้านบาท ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน และผู้สร้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตในภูมิภาคเอเชีย
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กล่าวว่า “บรรยากาศงานแสดงสินค้า
Marche du Film - Cannes Film Festival 2023 ณ เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 16 – 24 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา มีความคึกคักมาก นักธุรกิจและบุคคลสำคัญทั่วโลกเดินทางเข้าร่วมงานกว่า 14,000 ราย สูงสุดเป็นประวัติการณ์” การเจรจาการค้าในงานปีนี้ มีนักลงทุน ผู้สร้าง ผู้ซื้อจากต่างประเทศสนใจเข้าร่วมเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการไทย
10 บริษัท รวม 271 นัดหมาย สร้างมูลค่าเจรจาการค้า 1,986 ล้านบาท ผลการเจรจาการค้าที่สำคัญ อาทิ บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด ได้เจรจาการค้ากับบริษัทจากประเทศโปแลนด์ เวียดนาม และจีน ซึ่งสนใจซื้อภาพยนตร์จำนวนกว่า 20 เรื่อง เพื่อนำไปลงแพลตฟอร์มและฉายในโรงภาพยนตร์ และบริษัท เบนีโทน ฟิล์มส์ จำกัด ได้เจรจาการค้ากับบริษัทจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน และรัสเซีย ที่ต้องการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยเร็ว ๆ นี้
ภายใต้มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศที่ถ่ายทำในประเทศไทย (Thailand Film Incentive Measures)
เป็นที่น่าจับตามองว่า คอนเทนต์ไทยได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีบนเวทีนานาชาติมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะด้านบริการเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Production & Post Production Services) ที่เป็นที่ยอมรับมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประเทศคู่ค้ารายใหม่ และการเข้าร่วมเจรจาการค้าของผู้ประกอบการไทยในเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศอย่างต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และบริการเกี่ยวเนื่องในตลาดโลก ตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์
อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อน Soft Power ของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี
สำหรับงานแสดงสินค้า Marche du Film - Cannes Film Festival 2023 มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานกว่า 14,000 ราย
จาก 120 ประเทศทั่วโลก ทำลายสถิติเดิมที่มีผู้เข้าร่วมในปี 2019 จำนวน 12,500 คน โดยมีตัวแทนแต่ละประเทศเข้าร่วมกว่า 60 คูหา และบริษัทผู้ขายมากกว่า 370 บริษัท
รวมไปถึงกิจกรรมเสวนากว่า 60 รายการ ปีนี้มีนักลงทุนและผู้สร้างในธุรกิจบันเทิงจากสาธารณรัฐประชาชนจีนกลับมาเข้าร่วมงานจำนวนมากยิ่งขึ้น หลังจากกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบภายหลังสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดลง ถือเป็นเรื่องดีที่ตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก กลับมาคึกคักและได้รับความสนใจจากบุคคลในแวดวงธุรกิจภาพยนตร์และธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากยิ่งขึ้น
ซึ่งคอนเทนต์ไทยยังคงได้รับผลตอบรับที่ดี ด้วยจุดแข็งไทยมีความพร้อมในหลากหลายด้าน ทั้งบุคลากรที่มีความสามารถ และค่าใช้จ่ายแรงงานที่เหมาะสม ประกอบกับความน่าเชื่อถือและการมีผลงานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกอย่างต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อย ๆ