ศลต.ตร.บังคับใช้กฎหมายเข้ม โค้งสุดท้าย ‘เลือกตั้ง66’
เน้นย้ำ! ซื้อสิทธิขายเสียงมีความผิด จับกุมแล้ว 3 ราย
แนะนำประชาชน 12 ข้อ ต้องรู้! ห้ามทำ ผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง
วันนี้ ( 13 พฤษภาคม 2566 ) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( ตร. ) พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการ ประจำสำนักงาน ผบ.ตร. ในฐานะโฆษก ศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ( ผบ.ตร. ) พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศลต.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน
สั่งการให้ ศลต.ตร. เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่จะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษาคม 2566 มีความเข้าใจในกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และเพื่อเป็นการสนับสนุนภารกิจการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
โฆษก ศลต.ตร. กล่าวว่า ขอแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงการกระทำที่ต้องงดเว้น ห้ามกระทำ ตามกฎหมายเลือกตั้ง “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561” ที่ประชาชนพึงหลีกเลี่ยง ซึ่งมักพบการกระทำความผิด ดังนี้
1. การซื้อสิทธิขายเสียง การกระทำการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ผู้สมัคร หรือ “การซื้อขายเสียง” เข้าข่ายผิดกฎหมาย ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยผู้ซื้อเสียง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี ส่วนผู้ขายเสียง เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อลงคะแนนหรืองดเว้นไม่ลงคะแนน ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุก 1-5 ปี ปรับ 20,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
2. การพนันขันต่อผลการเลือกตั้ง โดยผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก 1 ถึง 5 ปี ปรับ 20,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
3. การจัดยานพาหนะขนคนไปเลือกตั้ง หากทำเพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด มีความผิด มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
4. การกระทำใด เป็นการขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยว เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิได้ มีความผิด ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกำหนด 10 ปี
5. การรื้อ ย้าย ปลด ทำลาย หรือเก็บป้ายหาเสียง ต้องทำโดยเจ้าของ หรือผู้รับมอบอำนาจเท่านั้น ผู้อื่นจะกระทำไม่ได้ ฝ่าฝืนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่ ศลต.ตร.เน้นย้ำ สิ่งที่ห้ามทำ หลังเวลา 18.00 น.ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง
1. ห้ามจำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราในเขตเลือกตั้ง ซึ่งครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ห้ามมิให้มีการโฆษณาหาเสียงให้พรรคการเมือง หรือผู้สมัคร ส.ส. ทุกรูปแบบ รวมถึงให้งดเว้นการสวมใส่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ฯลฯ ที่มีสัญลักษณ์โลโก้พรรคการเมือง หมายเลขพรรคการเมือง หรือผู้สมัคร (โดยเฉพาะเมื่อเข้าคูหา หรือบริเวณใกล้เคียงหน่วยเลือกตั้ง ) และให้งดเว้นการโพสต์ข้อความ อัปโหลดภาพ หรือคลิปที่มีเนื้อหาลักษณะหาเสียงเลือกตั้ง ลงบนโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป ฝืนก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะเดียวกันข้อกฎหมายที่เน้นย้ำ ห้ามทำเมื่อเข้าคูหาเลือกตั้ง
1. นำบัตรเลือกตั้งออกจากหน่วยเลือกตั้ง ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุก 1-5 ปี ปรับ 20,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
2. ถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองลงคะแนนแล้ว ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. จงใจทำบัตรเลือกตั้งชำรุด เสียหาย หรือจงใจทำบัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
4. นําบัตรที่ลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่น เพื่อให้ทราบว่าตนได้เลือกหรือไม่เลือกผู้ใด ฝ่าฝืนมีโทษ จําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
5. สวมใส่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายที่มีโลโก้ สัญลักษณ์ หมายเลข ของพรรคการเมือง หรือผู้สมัคร มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ท.นิธิธรฯ กล่าวย้ำว่า โค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง ผบ.ตร.ได้กำชับตำรวจทั่วประเทศ ให้มีมาตรการสืบสวนหาข่าว ป้องกัน ปราบปรามห้ามมิให้มีการ ซื้อเสียง – ขายเสียงเด็ดขาด ซึ่งทั้งผู้ซื้อเสียง และขายเสียง มีโทษทางอาญาทั้งจำคุก ปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสูงสุด 20 ปี โดยเฉพาะในคืนวันนี้ หรือที่เรียกว่าคืนหมาหอนตำรวจเพิ่มความเข้มการสืบสวน ป้องกัน จับกุม และตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สามารถจับกุมจับกุมดำเนินคดี ผู้กระทำผิดฐานซื้อเสียง ได้แล้ว 3 ราย ที่ จว.บึงกาฬ จับกุมได้พร้อมของกลางโพยรายชื่อ และเงินสด อีกราย จว.พระนครศรีอยุธยา จับได้พร้อมของกลางเงินสด และอีกรายที่ จว.พิจิตร จับกุมได้พร้อมของกลางเงินสด เช่นกัน อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
“โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ผบ.ตร. และ ผอ.ศลต.ตร. กำชับตำรวจทั่วประเทศบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง แจ้งได้ที่สายด่วน 191 หรือ 1599 หรือที่สถานีตำรวจนครบาล สถานีตำรวจภูธรทุกแห่ง ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่สายด่วน กกต.1444” โฆษก ศลต.ตร.กล่าว
*********