สกสว.เปิดเวทีฟังเสียงสะท้อน 4 ปีปฏิรูป ววน. ต้องบูรณาการกับการเมือง-เอกชน-ประชาสังคม
สกสว.เปิดเวทีรับฟังเสียงสะท้อน 4 ปีแห่งการปฏิรูป ววน. เพื่อทบทวนบทเรียน รับโจทย์ และมองไปข้างหน้า ผู้ทรงคุณวุฒิชี้ต้องมีเอกภาพเชิงนโยบาย ทำงานเชื่อมโยงกับระบบการเมือง เอกชน และประชาสังคม เพื่อเป็นพลังหนุนเสริมให้ขับเคลื่อนไปได้ และมีผลงานที่กินได้-จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมบนโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาและนวัตกรรมของประเทศ
วันที่ 21 มิถุนายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดงานเสวนา SRI Share & Learn: 4 ปีแห่งการปฏิรูป ววน. ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค เพื่อให้หน่วยงานหลักในระบบวิจัยและนวัตกรรม ภาคีเครือข่าย และ สกสว. ได้สร้างความเข้าใจ สะท้อนคิด รับโจทย์และข้อค้นพบบทเรียน รวมถึงการมองภาพเป้าหมายและภาพอนาคตของระบบ ววน. ร่วมกัน
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการปฏิรูปและจัดตั้งระบบ ววน.ของประเทศอย่างเป็นทางการ ซึ่งได้ขับเคลื่อนครบ 4 ปี จึงเป็นหมุดหมายที่ควรจะเน้นย้ำความสำคัญ และทบทวนเส้นทางที่ผ่านมา โดยในปี 2566 เป็นจังหวะเปลี่ยนผ่านของคณะกรรมการหลายชุด จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะรับฟังความคิดเห็นและเสริมพลังขับเคลื่อนระบบ ววน.ของประเทศไปข้างหน้าได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะส่งผลต่อการปรับปรุงระบบ ววน.ให้ดีขึ้นได้อย่างไร
ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ความเห็นว่าภาครัฐต้องตื่นตัวอยู่เสมอและพร้อมรองรับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่อยากฝากคือ 1) ภาครัฐจะเข้มแข็งอย่างไรก็ไม่พอในการขับเคลื่อนประเทศ จึงต้องถูกผลักโดยภาคส่วนอื่น เช่น เอกชน ประชาสังคม 2) วิทยาศาสตร์ที่จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมพัฒนาไปได้ ต้องมีโจทย์ที่ชัดเจนจากฝั่งผู้ใช้ 3) ความเร็วเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ยังมีช่องว่างใหญ่ระหว่างฝั่งนโยบายกับฝั่งปฏิบัติ และขาดความต่อเนื่องของรัฐบาล ดังนั้นรัฐมนตรีและฝั่งนโยบายควรจะต้องลงมาคลุกคลี เก็บเกี่ยวต้นทุนเก่าและทำต้นทุนใหม่ ต้องรู้ว่าโจทย์ของประเทศคืออะไร มีเป้าที่ชัดเจน การเชื่อมโยงอยู่ตรงไหน และต้องเปลี่ยนโจทย์ให้เป็นโจทย์เดียว เป็นการวิจัยเพื่อสู้กับชาวโลก ให้ชุมชนแข็งแกร่งขึ้น หรือสร้างกำลังคนให้เก่งขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมสูงวัย สุขภาวะ เกษตรอัจฉริยะ
ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงเจตนารมณ์ของการปฏิรูประบบ ววน. ว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาและนวัตกรรมของประเทศที่จะนำพาประเทศให้เจริญก้าวหน้าและแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้ จึงอยากเห็นคณะกรรมการขับเคลื่อนและส่งมอบงานโดยมีทิศทางและนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ทั้งนี้ ต้องมีเอกภาพเชิงนโยบาย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ สกสว.ต้องทำงานเป็นทีมเดียวกัน รวมทั้งแก้กลไกการทำงานของ สกสว.และหน่วยบริหารและจัดการทุนในลักษณะ “One ววน.” เป็นทีมเดียวกันไปด้วยกัน รวมถึงมีคลังสมองที่รวบรวมประสบการณ์และสมรรถนะความสามารถเพื่อนำพาไปสู่สิ่งที่น่าจะเป็น
ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ระบุว่า การวิจัยคือโครงสร้างทางปัญญาของประเทศ ต้องมีความรู้พื้นฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แก้ปัญหาแบบมีความรู้ ในปีนี้เราทำตามเจตนารมณ์สำเร็จสามารถจัดสรรสัดส่วนงบประมาณได้ ทั้งการวิจัย สร้างคน สร้างระบบ และนำผลงานไปใช้ประโยชน์ ส่วนงานที่ต้องทำให้สำเร็จคือการทำงานวิชาการกับผู้ใช้ประโยชน์ เช่น ชุมชน เอกชน โดยความคาดหวังที่อยากเห็นคือ ทำระบบที่จัดสรรทุนได้อย่างรวดเร็ว มีผลลัพธ์สำคัญที่ตอบรัฐสภาได้ และมีระบบการประเมินผลที่จริงจังบนพื้นฐานความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์
ขณะที่ ศ. ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ประธานกรรมการอำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ความท้าทายของระบบ ววน. คือส่วนที่เป็นพฤติกรรมของคนในระบบ ววน.และผู้เกี่ยวข้องภายหลังจากที่โครงสร้างได้ปรับเปลี่ยนไปแล้ว เปรียบได้กับการขี่ช้าง ตัวสำคัญที่จะขับเคลื่อนคือช้าง ไม่ใช่เส้นทางที่ได้ออกแบบไว้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทำให้ช้างอยากจะเดินไปในเส้นทางใหม่ แทนการกลับไปเดินทางเก่า นอกจากนี้เรามีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่ค่อนข้างทะเยอทะยาน แต่ไม่มีทรัพยากรที่จะทำได้ทุกอย่าง สิ่งสำคัญคือ คน ดังนั้นจึงต้องเลือกทำ ในมุมมองของนักวิชาการ ศ. ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น จากสถาบันวิทยสิริเมธี สะท้อนปัญหาในเนื้อหางานวิจัยและกลไกการประเมินผลงานที่ยังไม่ชัดเจน การอิงกับตัวเลขหรือผลงานตีพิมพ์แบบเหมารวมอาจจะไม่เหมาะกับงานวิจัยบางสาขาที่มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนน้อย ปัญหาการซื้อขายผลงานวิชาการ อยากให้ผู้มีอำนาจเข้ามาจัดการให้ถูกต้องตั้งแต่ในระดับการออกแบบกลไกการประเมินและสนับสนุนทุนวิจัย รวมถึงการบ่มเพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ให้เห็นโอกาสและทิศทางที่จะเดินไป งานวิจัยอาจเป็นองค์ความรู้ของศาสตร์ ตำราหรือบทเรียน ที่ไม่ได้นำไปสู่พาณิชย์อย่างเดียว ดังนั้นจึงต้องออกแบบให้ต้นหญ้าโตอย่างถูกที่ถูกทางร่วมกับต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ตัวเขาเองมีโอกาสเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ได้ด้วย รวมถึงต้องเข้าใจโจทย์วิจัยที่ตีพิมพ์ได้และขณะเดียวกันยังทำงานร่วมกับเอกชนหรือชุมชนได้
เช่นเดียวกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่กล่าวว่ายังไม่มีผลลัพธ์และผลกระทบเป็นรูปธรรมที่ประชาชนรู้สึกได้ กินได้ จึงต้องสร้างการสั่งสมความรู้ที่จับต้องได้โดยกลุ่มคนจำนวนมาก เหมือนกรณีประชาชนของเกาหลีหรือไต้หวันที่มิอาจปฏิเสธความสำคัญของ ววน. ที่ชัดเจนต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีที่มีที่มาจากเทคโนโลยีหรือหน่วยงานวิจัย นอกจากนี้การออกแบบโครงสร้างยังไม่ชัดเจนในการจัดความสัมพันธ์กับการเมือง ทำให้ขาดพลังภายนอกที่จะหนุนเสริมให้ขับเคลื่อนไปได้ ระบบ ววน.แยกจากการเมืองและสังคมไม่ได้จึงต้องบูรณาการเข้าด้วยกัน ส่วนการส่งไม้ต่อระหว่างหน่วยงานในโครงสร้าง ววน. ต้องลดขั้นตอน นโยบายกับทรัพยากรต้องไปด้วยกันเพื่อให้ทำงานได้รวดเร็ว โดยสิ่งที่ควรทำก่อนคือ สมานโครงสร้างให้มีผู้ใช้เข้ามาร่วมด้วย ตอบโจทย์ให้สังคมเห็นว่า ววน.กินได้ หรือทำงานร่วมกับภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนประเทศ