กรมศุลกากรชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินการกับของตกค้างืประเภทสุกรแช่แข็งที่ตกเป็นของแผ่นดินภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง
เมื่อ15 กันยายน 2566 นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่าจากกรณีที่กรมศุลกากรพบของค้างบัญชีเรืออยู่ในอารักขาของศุลกากรประเภทสุกรแช่แข็ง จำนวน 161 ตู้
ซึ่งเป็นของควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ที่มิได้รับอนุญาตนำเข้าจากกรมปศุสัตว์
ต่อมา วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 กรมศุลกากรได้ยื่นหนังสือถึงตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อขอให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในฐานะนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาในความผิดฐานนำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต จากนั้น กรมศุลกากรจัดให้มีคณะทำงานประสานงานการแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสุกรหรือชิ้นส่วนสุกรที่ผิดกฎหมายและการบริหารจัดการสุกรของกลาง โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ร่วมกับ ผู้แทนจากหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาพร้อมวางแนวทางและมาตรการในการป้องกันการนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสุกรหรือชิ้นส่วนสุกรที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการบริหารจัดการทำลายเนื้อสุกรแช่แข็งที่ผิดกฎหมาย
ในปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้รับเรื่องกรณีการจับกุมการนำเข้าสุกรแช่แข็งดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ ที่ 59/2566 โดยได้เข้าร่วมตรวจสอบตู้บรรจุเนื้อสุกรแช่แข็ง กับกรมปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 และเสร็จสิ้นลง เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 หลังจากนั้น วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 กรมศุลกากรได้มีหนังสือถึง DSI สอบถามเรื่อง การส่งมอบตู้ให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการทำลาย 161 ตู้ และเมื่อวันพุธที่ 13 กันยายน 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 59/2566 คดีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ประชุมหารือในเรื่องการทำลายชิ้นส่วนสุกร จำนวน 161 ตู้ โดยที่ประชุมมีมติร่วมกันว่า DSI จะเป็นผู้ควบคุมการขนย้ายตู้สินค้าจากท่าเรือแหลมฉบัง ไปยังพื้นที่ทำลาย ณ แปลงหญ้าศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สระแก้ว จังหวัดสระแก้ว โดยกำหนดให้มีการขนย้ายซากสุกรไปทำลาย คาดว่าเป็นช่วงระหว่างวันที่ 25 - 29 กันยายน 2566 นี้
ในส่วนของการดำเนินการทำลาย กรมศุลกากรได้ประสานงานกับผู้ประกอบการ
สายเดินเรือที่ขนส่งสินค้าในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายทำลายของกลางดังกล่าวทั้ง 161 ตู้ โดยจะจัดประชุม
เพื่อซักซ้อมความเข้าใจกับผู้ประกอบการสายเดินเรือ ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือรับอนุญาต สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และด่านกักกันสัตว์ชลบุรี ในวันที่ 19 กันยายน 2566
ที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า ส่วนกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ศุลกากร
มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าหมูเถื่อนนั้น กรมศุลกากรอยู่ระหว่างการพิจารณาตั้งคณะกรรมการลงโทษตามกฎหมายกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือกระทำให้เกิดความเสียหายต่อราชการหรือไม่ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย และสอดคล้องกับนโยบายของกรมฯ อีกทั้ง กรมฯ ได้มีมาตรการให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าและให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน โดยทำการตรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่จากด่านกักกันสัตว์ กรมปศุสัตว์ ทุกกรณี เเละในกรณีที่มีการตรวจพบความผิดเกี่ยวกับสินค้าประเภทสุกรหรือเนื้อสัตว์ต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรทำการจับกุมเเละดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนโดยไม่ยินยอมให้ทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร ซึ่งกรมฯ พร้อมอํานวยความสะดวกและสนับสนุนพนักงานสอบสวนและหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องในการร่วมตรวจสอบ รวมทั้ง การเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจปล่อยสินค้าประเภทตู้แช่เย็น ทำให้ไม่ปรากฏการลักลอบนำเข้าผ่านท่าเรือต่างๆ แต่เปลี่ยนเป็นการลักลอบผ่านทางช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดนที่มีปริมาณไม่มาก โดยกรมศุลกากรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มความเข้มงวดตรวจตราให้มากยิ่งขึ้นต่อไป