“หวั่น” วิกฤตเชื้อแบคทีเรียดื้อยาไม่ลด ยอดคนไทยเสียชีวิตพุ่งเกิน 4 หมื่นกว่าคนต่อปี
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ผนึกภาคีเครือข่าย ร่วมแถลงการณ์จี้กรมปศุสัตว์ ร้องหยุดเชื้อดื้อยาและพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์อย่างเป็นรูปธรรมทันที
กรุงเทพฯ, 21 พ.ย. 2566 – องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection) ส่งท้ายแคมเปญ “บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม” ผนึกภาคีเครือข่าย เดินหน้าเข้าพบ นายสัตวแพทย์รักไทย งามภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ พร้อมส่งมอบรายชื่อประชาชนเรียกร้องการหยุดเชื้อดื้อยาและพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ให้ดีขึ้น
แคมเปญ “บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึด สู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม” เป็นกิจกรรมที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย พร้อมภาคีเครือข่ายต่างๆ จัดกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่องตลอดเดือนพฤศจิกายน ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็น World Antimicrobial Awareness Week (สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านจุลชีพโลก) เพื่อเน้นย้ำถึงวิกฤตเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ผ่านกิจกรรมพายซัพบอร์ด โดยนำร่องแม่น้ำ สายแรก แม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2566 และในวันที่ 11 พ.ย. 2566 ล่องแม่น้ำสายที่สอง แม่น้ำนครชัยศรี จ.นครปฐม และปิดท้ายกิจกรรมในวันที่ 21 พ.ย. 2566 โดยเข้าพบ นายสัตวแพทย์ รักไทย งามภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ เพื่อกล่าวแถลงการณ์และส่งมอบรายชื่อประชาชน 15,000 คน ร่วมเรียกร้องการหยุดเชื้อดื้อยาและพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ให้ดีขึ้นโดยด่วน พร้อมรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ โดยทีมซัพบอร์ด และเรือพร้อมป้ายข้อความ “หยุดเชื้อดื้อยา พัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม” ในแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากท่าเรือ สน.บางโพ ผ่านรัฐสภา วัดอรุณราชวรารามฯ สะพานพระพุทธยอดฟ้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสิ้นสุดที่สะพานพระรามแปด
รายงานล่าสุดขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ในเดือน ต.ค. 2566 ยังคงพบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในแหล่งน้ำสาธารณะ และบริเวณฟาร์มอุตสาหกรรรม อาทิ ฟาร์มสุกร และฟาร์มไก่ ใน จ.นครราชสีมา จ.ฉะเชิงเทรา และจ.นครปฐม ซึ่งเป็นที่น่าวิตกอย่างยิ่งที่ผลตรวจเชื้อแบคทีเรียดื้อยานั้นไม่ต่างจาก 4 ปีก่อน โดยยังคงมีการพบเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะชนิดรุนแรงในแบคทีเรีย Escherichia coli (E.coli) และ Klebsiella จากตัวอย่างน้ำและดินรอบฟาร์ม โดยกลุ่มยาที่พบเชื้อดื้อยามากที่สุดคือ Ampicillin รองลงมาคือ Amoxy-clavulanate และ Tetracycline ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่นิยมใช้ในฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรม โดยยาชนิดนี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อรักษาผู้ป่วยจากโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หลอดลมอักเสบ ภาวะติดเชื้อที่หูในกระแสเลือด รวมถึงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งหากคนได้รับเชื้อดื้อยาและเจ็บป่วยจากโรคดังกล่าว อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล และล่าสุดข้อมูลจากวารสารการแพทย์ The Lancet เผยผลการสำรวจใหม่ ชี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาในประเทศไทยพุ่งสูงถึงปีละ 43,855 คน หรือมีคนไทยเสียชีวิตถึง 5 คนในทุกๆ ชั่วโมง ในขณะที่ยาปฏิชีวนะยังถูกใช้อย่างมหาศาลในฟาร์มอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนสวัสดิภาพสัตว์ที่เลวร้าย
โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “แม้ว่า ประเทศไทยจะมียุทธศาสตร์ชาติเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ แต่วิกฤตการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาจากฟาร์มสัตว์ ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผล “การตรวจหาแบคทีเรียดื้อยาที่สำคัญจากสิ่งแวดล้อมบริเวณฟาร์มเลี้ยงสุกรและไก่ เดือนตุลาคม 2566” ในครั้งนี้ ยังคบพบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่น่ากังวลอย่างยิ่งและแทบไม่ได้ลดลงจากการตรวจเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา การพบเชื้อเหล่านี้ก่อความกังวลต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนในพื้นที่รอบๆ ฟาร์มอุตสาหกรรม ซึ่งบ่งชี้ว่าสวัสดิภาพสัตว์ที่ย่ำแย่ ต้อตอสำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะแบบเกินความจำเป็นในฟาร์ม ยังคงไม่ได้รับความสำคัญ อีกทั้งยังขาดความมุ่งมั่นในระดับนโยบายและทางการเมืองที่จะลงมือจัดการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนและจริงจัง ทางองค์กรฯ และเครือข่าย จึงเรียกร้องให้รัฐและผู้กำหนดนโยบายให้มุ่งพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม และเร่งบังคับใช้กฎหมายการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรค เพื่อแก้ไขถึงวิกฤตด้านสุขภาพที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่”
โรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ปัญหาเชื้อดื้อยาที่พวกเราเผชิญอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้เป็นแค่วิกฤตระดับชาติ แต่จะกลายเป็นหายนะของมนุษย์โลกได้ หากเรายังไม่สามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจในทุกภาคส่วน เราอาจเคยเข้าใจกันว่าเชื้อดื้อยามาจากการรับประทานยาปฏิชีวนะมากเกินไปหรือรับประทานยาไม่ครบตามขนาด แต่จากการทำงานขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกที่ผ่านมาพบว่า 3 ใน 4 ของยาปฏิชีวนะทั้งหมดที่ใช้ในโลกถูกใช้ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และประมาณร้อยละ 40-80 ของการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มเลี้ยงสัตว์นั้นเป็นการใช้โดยไม่จำเป็น การยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน สุขภาพของสัตว์ในระบบฟาร์มอุตสาหกรรมเชื่อมโยงกับสุขภาพของผู้บริโภคโดยตรง ฟาร์มที่มีการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี จะส่งผลให้สัตว์ไม่เครียดและมีสุขภาพแข็งแรง และจะลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็นลงได้”
โชคดี กล่าวปิดท้ายว่า “เราเห็นว่าการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ให้สูงขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงข้อเรียกร้องทางด้านจริยธรรมและมนุษยธรรมเท่านั้น แต่เพื่อให้เกิดระบบอาหารที่ส่งผลดีต่อทั้งสัตว์ สุขภาพของคน ตลอดจนสิ่งแวดล้อม เราจะยังคงติดตามและทำงานร่วมกับภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมปศุสัตว์ เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มให้ได้มาตรฐาน เพื่อนำไปสู่ระบบอาหารที่เป็นธรรมและยั่งยืน”
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกและเครือข่าย เรียกร้องให้รัฐบาลไทย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทโดยตรงในเรื่องนี้ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้โดยเร่งด่วน” ยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มในมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ให้สูงขึ้น และสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำด้านสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม (FARMS – Farm Animals Responsible Minimum Standard) และมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด
ทบทวนแนวทางการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 โดยบรรจุประเด็นการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อแก้ไขวิกฤตเชื้อดื้อยา
มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มสัตว์อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่ม ซึ่งเป็นการใช้ที่ไม่จำเป็นและนำไปสู่การเกิดเชื้อดื้อยาในฟาร์มและแพร่กระจายสู่ภายนอก
จัดให้มีนโยบายส่งเสริมฟาร์มทางเลือกของเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้เกิดการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มาจากแหล่งที่มี
สวัสดิภาพสัตว์ที่ดี และราคาเป็นธรรมในท้องถิ่น
ร่วมติดตามความเคลื่อนไหวและข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/Ban-AMR-Campaign เฟสบุ๊ค World Animal Protection Thailand องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
#บึ๊ดจ้ำบึ๊ดฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม #รณรงค์เชื้อดื้อยา #WorldAnimalProtectionThailand
ข้อมูลเพิ่มเติม
รายงาน การตรวจหาแบคทีเรียดื้อยาที่สำคัญจากสิ่งแวดล้อมบริเวณฟาร์มเลี้ยงสุกรและไก่ ต.ค. 2566 https://bitly.ws/Zde7
แถลงการณ์องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
เรียกร้องภาครัฐให้ยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มเพื่อแก้ไขวิกฤตเชื้อดื้อยา
################################
เกี่ยวกับองค์กร
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระดับโลกมีสำนักงาน 14 แห่งทั่วโลก รวมถึง ประเทศไทยซึ่งได้มีการดำเนินการเพื่อปกป้องสัตว์จากความทุกข์ทรมาน มาเป็นเวลา 55 ปีโดยมุ่งเน้นการยกระดับ สวัสดิภาพสัตว์ และ ยุติการทุกข์ทรมาน และการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ ณ ประเทศอังกฤษ ที่ผ่านมาองค์กรฯ ได้ดำเนินกิจกรรม ผ่านโครงการต่างๆ ในประเทศไทย อาทิ โครงการส่งเสริมระบบอาหารอย่างยั่งยืน โดยยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม การยกระดับ สวัสดิภาพสัตว์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต ช้างไทยให้ดีขึ้นและเพื่อให้สัตว์ป่าทุกตัวได้มีโอกาส ที่จะมีชีวิต อย่างมีอิสระตามธรรมชาติโดยตระหนักถึงความสำคัญ ของคุณภาพชีวิตสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพชีวิตมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม อย่างเกื้อกูลกัน