“สภาองค์กรของผู้บริโภค” ป้องผู้บริโภคโดน “สินเชื่อดัง” บ้าน-ที่ดิน “คิดดอกเบี้ยโหด-ทำเอกสารผิดกฎหมาย” แนะเร่งเจรจาก่อนจบที่ศาลฯ ด้าน “สินเชื่อดัง” รับผิดพลาดในการประชาสัมพันธ์ เร่งแก้ไขด่วน
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2566 อาคารสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค จัดแถลงข่าวช่วยเหลือกับผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
โดยมี นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค, นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สำนักงานสภาผู้บริโภค, นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สำนักงานสภาผู้บริโภคและ ว่าที่ร้อยเอกธรรมนัส แก้วบุญส่ง ตัวแทนผู้เสียหายจากการกู้สินเชื่อจำนำโฉนด จากบริษัทเงินกู้ศรีสวัสดิ์ ถึงรายละเอียดการทำงาน เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภคทุกราย รวมถึงแนวทางการต่อสู้ในชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เผยว่า จากกรณีศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องกรณี บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ฟ้องร้อง จำเลยว่าที่ร้อยเอกธรรมนัส แก้วบุญส่ง เรื่องผิดสัญญาเงินกู้สินเชื่อจำนำโฉนด โดยศาลชั้นต้นให้เหตุผลว่า บริษัทฯดังกล่าวไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้บริโภคได้ทำสัญญากู้และได้รับเงินจริง และสัญญาที่นำมาแสดงต่อศาลเป็นเอกสารปลอมจึงตัดสินยกฟ้อง ซึ่งเวลาต่อมา บมจ. ศรีสวัสดิ์ คอร์เปอเรชั่น ออกมาชี้แจงหลังคำพิพากษาชั้นต้นว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริงทางบริษัทไม่มีนโยบายและการทำงานที่ขัดต่อกฏหมาย ทางบริษัทมีหลักฐานภาพถ่ายผู้บริโภคลงนามในสัญญาและหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชี พร้อมระบุว่าคดียังไม่สิ้นสุดจึงไม่อาจกล่าวได้ว่าบริษัทปลอมแปลงเอกสารเงินกู้
ทั้งนี้สภาองค์กรของผู้บริโภค ยังคงย้ำจุดยืนในการดำเนินงานให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภคทุกราย ซึ่งนอกเหนือจากกรณีที่เกิดขึ้นกับเคสของว่าที่ร้อยเอกธรรมนัส แก้วบุญส่งแล้ว ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค ยังมีการรับเรื่องจากผู้บริโภคอีกหลายกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากบริษัทมหาชนดังกล่าว
“เวลานี้มีผู้ร้องทุกข์มายังสำนักงานสภาผู้บริโภค มากกว่า 60 ราย อาทิ ไม่คืนโฉนดให้ผู้กู้ ,ไม่โอนเงินที่ทำสัญญา ,คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่ากฎหมายกำหนด, ไม่ส่งมอบคู่ฉบับให้ผู้กู้, ขายพ่วงประกันภัยวินาศภัย ,ไม่ได้หนังสือสัญญารีไฟแนนท์ ,เงินกู้ถูกเรียกเก็บเงินก่อนครบสัญญา ,ได้เงินไม่ครบตามจำนวน ,สัญญาไม่เป็นธรรมกำหนดให้ผู้กู้ชำระเงินในเวลาที่กำหนด หากไม่ชำระให้ทำสัญญาใหม่ และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอีกร้อยละ 24 เป็นต้น ซึ่งความผิดเหล่านี้ ผิดทั้งประมวลกฎหมายแพ่ง และอาญา ทางสำนักงานสภาผู้บริโภค พร้อมเป็นตัวแทนในการเจรจาระหว่าง บ. ศรีสวัสดิ์ กับผู้กู้ทุกราย เพื่อให้สามารถไกล่เกลี่ยได้ ดีกว่าไปเป็นคดีความในชั้นศาล”
นายวัชร์บูรย์ สุรสิงห์สฤษฎ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปล่อยกู้ในรูปแบบของโฉนดที่ดิน หรือที่อยู่อาศัย จะส่งต่อให้กับ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด โดย บ.ศรีสวัสดิ์ฯ ตั้งใจในการช่วยเหลือผู้กู้ทุกคน เพราะเมื่อเวลามากู้ ผู้กู้ต้องการเงินก้อนใหญ่ไปทำธุรกรรม ซึ่งได้มีการเสนอรูปแบบของชำระดอกเบี้ยก่อน และชำระดอกเบี้ยพร้อมเงินต้น โดยมีการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งการกู้ได้มีการแจ้งให้ลูกค้าทราบก่อนทุกครั้ง แต่อาจจะมีการสื่อสารผิดพลาด ทำให้ผู้กู้ได้รับข้อมูลผิดพลาดได้ หรือการที่ให้ผู้กู้เช็นเอกสารในกระดาษปล่าว เและทางบริษัทฯค่อยนำไปพิมพ์เป็นเอกสารสัญญากู้ เพราะผู้กู้ต้องการเงินด่วน รวงมถึงเอกสารคู่สัญญาที่ผู้กู้ยังไม่ได้รับ นั้น ทาง บ.ศรีสวัสดิ์ จะนำปัญหาดังกล่าวไปนำเสนอผู้บริหารเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป
“ทางบ.ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ ยืนยันในการคิดดอกเบี้ยกับผู้กู้อย่างเป็นธรรม และเชื่อว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ถูกมากในท้องตลาด และคิดดอกเบี้ยเป็นรายเดือนที่ใช้ แต่ก็ยอมรับถ้ากู้ระยะยาวดอกเบี้ยก็เกิดร้อยละ 15 ต่อปี ส่วนเอกสารกู้ที่เป็นคู่สัญญา ทางบ.ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ฯจะเร่งนำส่งให้ผู้กู้โดยเร็วที่สุดเช้นเดียวกัน ทั้งหมดนี้ยืนบันว่ามาจากการสื่อสารที่ผิดพลาด”