คึกคัก! วันที่สองของงาน “วันนักประดิษฐ์ 2567” วช. ผนึก ม.เกษตร อบรมเชิงปฏิบัติการ “ใครไคร้ไข่เค็ม” เอกลักษณ์ความอร่อย
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2567 วันที่สองของการจัดงาน Thailand Inventors' Day 2024 (งานวันนักประดิษฐ์ 2567) ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการวิจัยและการประดิษฐ์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นนานาชาติ จัดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนำประเทศ” ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2567 ณ Event Hall 100-102 : ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
ณ ห้อง NILE 1: วช. ร่วมกับ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเวิร์กชอป เรื่อง "ใครไคร้ไข่เค็ม" มีเยาวชนและผู้เข้าร่วมกว่า 50 คน โดย ผศ.ทัศไนย จารุวัฒนพันธ์ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การทำไข่เค็มเป็นการถนอมอาหารโดยใช้เกลือเพื่อทำให้เก็บรักษาไข่ได้นานขึ้น โดยการดองในน้ำเกลือที่ความเข้มข้น 20-35% หรือด้วยการพอกซึ่งเป็นวิธีที่มาจากประเทศจีน
โดยใช้ดินผสมกับน้ำเกลือเข้มข้น 25-30% ดินจอมปลวก ดินเหนียว และดินสอพอง แล้วนำมาผสมเกลือในอัตราส่วน 4:1, 5:2 และ 3:1 เกลือจะออสโมซิสผ่านไปยังไข่ขาว จากนั้นน้ำในไข่แดงจะออกมาในส่วนของไข่ขาว ไข่ขาวจะมีลักษณะเหลวขึ้น (หนืดน้อยลง) และมีความเค็ม ในส่วนไข่แดงมีน้ำลดลง เกิดปฏิกิริยาของโปรตีนในไข่แดงทำให้สีเข้มและสดขึ้น เพื่อเพิ่มความเป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ไข่เค็ม สามารถนำสมุนไพรและเครื่องเทศชนิดต่าง ๆ ที่มีกลิ่นหอมนำมาผสมกับวัสดุพอกหรือดองไข่เพื่อให้กลิ่นแทรกเข้าไปยังไข่ขาว เช่น ใบเตย ตะไคร้บ้าน เป็นต้น การทำไข่เค็ม "ใครไคร้ไข่เค็ม" ส่วนผสมประกอบด้วย ไข่เป็ด 10 ฟอง เกลือ 200 กรัม น้ำสะอาด 200 มิลลิลิตร ดินสอพอง 600 กรัม ตะไคร้หั่น 50 กรัม ใบเตยหั่น 50 กรัม และ แกลบเผา โดยขั้นตอนเริ่มจาก หั่นตะไคร้และใบเตยนำไปปั่นกับน้ำสะอาดและเกลือให้ละเอียด
จากนั้นนำของเหลวที่ปั่นแล้วมาผสมกับดินสอพองทีละน้อยจนเนื้อดินละเอียด เช็ดเปลือกไข่ให้สะอาดแล้วนำไปเคลือบด้วยดินสอพองที่ผสมแล้ว จากนั้นนำไปคลุกกับแกลบเผาเพื่อรักษาความชื้นและกันไม่ให้เกลือออกมาที่ผิวมากเกินไป เก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องประมาณ 12-30 วัน จึงนำมาประกอบอาหารรับประทานได้
ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 ผู้ร่วมงานจะได้พบนิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมมากกว่า 1,000 ผลงาน นิทรรศการ “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ, นิทรรศการ รางวัลการวิจัยแห่งชาติ, นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากหน่วยงานเครือข่ายในประเทศและต่างประเทศ, มหกรรมประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ IPITEx 2024, นิทรรศการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน Thailand New Gen Inventors Award 2024 : I-New Gen Award 2024, กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนานักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ โซนตลาดสินค้าและนวัตกรรมจำหน่ายในราคาพิเศษ
นิทรรศการ Highlight Zone เช่น นิทรรศการ The Survival game ตะลุยแดนภัยพิบัติ ที่นำเสนอเกมส์หนีภัยสึนามิในโลกเสมือนจริง นิทรรศการ Fruit Fun Fair ผลไม้หรรษา ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ผลงานวิจัยมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ส้มโอฉายรังสี ทุเรียน Fresh cut ฯลฯ และ การเสวนาและฝึกอบรม มากกว่า 100 หัวข้อ เช่น การเสวนาในหัวข้อการส่งเสริมการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการประดิษฐ์คิดค้น การฝึกอบรมอาชีพ ลงทะเบียนและดูรายละเอียดเพิ่มเติม https://inventorsday.nrct.go.th
ผู้สนใจสามารถแวะชมงานได้ตั้งแต่บัดนี้ - 6 กุมภาพันธ์ 2567 ณ Event Hall 100 - 102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา