อว.ผนึกภาคีเครือข่าย จัดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” จุดประกายนำวิจัยและนวัตกรรมต่อยอดแก้ปัญหาให้คนเมือง
กระทรวง อว. ผนึกภาคีเครือข่ายจัดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” ส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมต่อยอดสู่การแก้ปัญหาคนเมืองในหลากมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ ด้านสุขภาพ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษาและเรียนรู้
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประธานเปิดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้ความสำคัญกับการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ กระทรวง
อว.จึงร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ อว. ไปใช้สนับสนุนการทำงานของ กทม. เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่ส่งผลให้เมืองประสบกับปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมภัยธรรมชาติและมลภาวะที่ส่งผลต่อการอยู่อาศัย ภาวะความยากจน ภาวะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ภาวะความปลอดภัย ภาวะผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ภาวะความเหลื่อมล้ำ ด้านการบริการสาธารณสุข และการป้องกัน
อย่างไรก็ดีการแก้ไขปัญหาในหลาย ๆมิติดังกล่าว จำเป็นต้องมีงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปช่วยสนับสนุน ซึ่งกระทรวง อว. มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้จำนวนมาก เช่น Traffy Fondue แพลตฟอร์มรับเรื่องและบริหารจัดการปัญหาเมือง ที่ประชาชนทุกคนสามารถแจ้งปัญหาที่เจอ เพื่อให้หน่วยงานช่วยแก้ปัญหา เช่น ปัญหาความสะอาด ไฟฟ้า ประปา ทางเท้า
สำหรับงานตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง อว. ได้นำผลงานนวัตกรรมจำนวนมากมาแสดง เช่น 1. ด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติมีเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ วัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และ PM 10 แบบเซ็นเซอร์ มีอุปกรณ์ตรวจวัดการสั่นสะเทือนโครงสร้างอาคารและระบบแจ้งเตือนภัย เพื่อทำให้ชาวกรุงเทพฯ อยู่อาศัยอย่างปลอดภัยขึ้น 2. ด้านสุขภาพ มีย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เป็นพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้านการแพทย์และมีการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลเพื่อทำให้การดูแลและส่งต่อผู้ป่วยทำได้รวดเร็วและสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ได้ดีขึ้น
3. ด้านสังคม มีแอปพลิเคชันบริการรถแท็กซี่สำหรับผู้สูงอายุ, มีต้นแบบเผยแพร่วัฒนธรรมไทย - จีนจากมุมมองของคน 3 ช่วงวัย เพื่อให้เมืองดูแลกลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุม 4. ด้านเศรษฐกิจ มีแอปพลิชันระบบบัญชีอัจฉริยะ, มีแพลตฟอร์มข้อมูลชี้เป้าครัวเรือนยากจน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาแบบพุ่งเป้าเบ็ดเสร็จ 5. ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ มีแอปพลิเคชันคัดกรองเด็กที่มีความลำบากในการอ่าน เพื่อเพิ่มสัมฤทธิผลทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นสำหรับการดำเนินงานต่อไป
สำหรับแผนงานที่อว. ร่วมกันดำเนินงานต่อไป ประกอบไปด้วย
1. เร่งนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปช่วยในการพัฒนาเมืองนวัตกรรมในทุกมิติ โดยให้ใช้ศักยภาพด้านการวิจัยและนวัตกรรมของ อว. สนับสนุนการทำงานของทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และชุมชน สำหรับสำหรับ กทม. ให้ให้ทำงานร่วมกับ Bangkok City Lab และส่วนงานอื่น ๆในการนำโจทย์ความต้องการมา Match กับผลงานวิจัยของ อว. เพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง และมุ่งพัฒนาความร่วมมือกับผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรงในวงกว้าง
2. สนับสนุนการพัฒนาต้นแบบพัฒนาเมืองหรือย่าน (City Sandbox) ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม เช่น ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี รวมถึงการสนับสนุนให้นำผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมมาส่งเสริมให้เกิดย่านวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นมาส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต ไปพร้อม ๆ กับการรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทย
3. สนับสนุนการจัดทำข้อมูล (City Data Platform) ที่สามารถสะท้อนถึงสุขภาพเมือง ทำให้สามารถคาดการณ์อนาคตและแก้ปัญหาได้ตรงจุด เช่น ตัวชี้วัดการพัฒนาเมือง แพลตฟอร์มข้อมูลชี้เป้าครัวเรือนยากจน ฐานข้อมูลพื้นที่เสี่ยง อาคารสูง และการจัดการภัยพิบัติ
ด้านรศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงที่มาของการจัดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” ในระหว่างวันที่ 1 – 3 กุมภาพันธ์ 2567 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ว่า การพัฒนาเมืองในหลาย ๆ ด้านเพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะวิกฤตในหลากหลายมิตินั้นจำเป็นต้องมีงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปช่วยสนับสนุน อาทิ ข้อมูลที่ปัจจุบันที่ยังไม่มีการจัดเก็บหรือยังไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ดี ทำให้ขาดข้อมูลที่สามารถสะท้อนถึงสุขภาพเมือง ไม่สามารถคาดการณ์อนาคต ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ การพัฒนาทักษะฝีมือ เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มคุณภาพการศึกษา เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม การป้องกันภัยพิบัติ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จึงเห็นความสำคัญและโอกาสที่จะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมเชิงนโยบายและการสนับสนุนทุน ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเมืองและพื้นที่ต่าง ๆ จึงได้เสนอให้มีการจัดงานตลาดนวัตกรรม 3 มุมเมืองขึ้น เพื่อแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) และหน่วยงานในสังกัด ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม และสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับเมืองและชุมชนท้องถิ่นไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านความร่วมมือระหว่างกระทรวง อว. และกระทรวงมหาดไทย พร้อมหน่วยงานในสังกัด
เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้มีการพบกับนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยเพื่อเกิดการจับคู่นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปขับเคลื่อนต่อในพื้นที่ของตนเอง รวมทั้งเข้าถึงช่องทางการรับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากหน่วยบริหารและจัดการทุนต่าง ๆ และสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยใช้ผลงานนวัตกรรมสร้างโอกาสในการสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาปากท้องและสังคมได้เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความสามารถในการรับมือ ปรับตัว และฟื้นตัวจากวิกฤต ต่าง ๆ ได้
สำหรับงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” ซึ่ง “3 มุมเมือง” มีนัย 3 ประการดังนี้
1. การสะท้อน “ประเด็นปัญหาที่สำคัญ” ของเมืองและชุมชนท้องถิ่น ได้แก่
• ด้านการศึกษาและการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อการพัฒนาเมืองและชุมชนในอนาคต
• ด้านเศรษฐกิจ ความยากจน ปัญหาสังคม และคุณภาพชีวิตของคนเมือง
• ด้านระบบกายภาพของเมือง อาทิ การจัดการระบบคมนาคมและผังเมือง การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการความปลอดภัย และภัยพิบัติสำหรับชุมชนเมือง
2. ครอบคลุม “กลุ่มเป้าหมาย” ได้แก่
• คณะผู้บริหารและบุคลากรของกรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์ (Key users) ของผลงานวิจัยและนวัตกรรม
• เด็ก เยาวชน และบุคลากรด้านการศึกษา ในฐานะพลเมืองที่จะมีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างเมืองกรุงเทพฯ สำหรับอนาคต
• ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ในฐานะพลเมืองผู้อยู่อาศัยในเมืองกรุงเทพฯ และเป็นภาคีหุ้นส่วนในการสร้างเมืองกรุงเทพฯ สำหรับอนาคต
3. สื่อถึง “พื้นที่จัดงาน” โดยจัดแบ่งเป็น 3 โซนที่สำคัญ ได้แก่
• เมืองนวัตกรรมการเรียนรู้ (Learning City) พื้นที่บริเวณภายในหอศิลป์ฯ และบริเวณลาน Skywalk สี่แยกปทุมวัน ซึ่งมีบอร์ดนิทรรศการต่าง ๆ ที่ประกอบไปด้วยเนื้องานเกี่ยวกับย่านสุขภาพ ย่านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ ย่านการศึกษาและการเรียนรู้ ย่านเศรษฐกิจและชุมชน และย่านการจัดการเมืองและการมีส่วนร่วม
• เมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (Smart and Livable City) พื้นที่บริเวณภายหน้าหอศิลป์ฯ ประกอบไปด้วย CityLab Livabele and Smart City และการจำหน่ายหนังสืองานวิจัย
• เมืองนวัตกรรมสำหรับทุกคน (Innovative City for All) เพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต ได้แก่ พื้นที่บริเวณลาน Skywalk สี่แยกปทุมวัน จะมีการออกร้านสินค้าชุมชน งานหัตถกรรม สินค้าเกษตรงานหัตถกรรมและศิลปวัฒนธรรม
สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://pmua.or.th และ facebook fanpage งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่ บพท