คนดนตรีตัวจริง! วิชัย ปุญญะยันต์ ผู้ก่อตั้งวง "พิงค์แพนเตอร์" เจ้าของเสียงร้องเพลงดังอมตะ “รักฉันนั้นเพื่อเธอ” รวมถึงเป็นหนึ่งในสมาชิก “สามวิ” ร่วมกับ 2 ศิลปินแห่งชาติ อ.วิรัช อยู่ถาวร และวินัย พันธุรักษ์ ผนึกกำลังกับ สุดา ชื่นบาน ศิลปินเเห่งชาติ อุปนายกสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ศิลปินแห่งชาติ อุปนายกสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
จัดคอนเสิร์ตเชิดชูครูเพลง "บอกรักกันวันนี้" ครั้งที่ 2 เพื่อเชิดชูผลงานเพลงอมตะของ 3 ศิลปินแห่งชาติ ครูสุรพล โทณะวณิก (ศิลปินแห่งชาติ), ครูมนัส ปิติสานต์ (ศิลปินแห่งชาติ) และครูเนรัญชรา หรือ สติ สติฐิต (ศิลปินแห่งชาติ) หลังจากครั้งแรกไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
วิชัย ปุญญะยันต์ แจ้งเจตจำนงค์เพื่อต้องการระดมเงินเพื่อมอบให้กับครูเพลงทั้ง 3 ท่าน เสมือนเป็นการแสดงความกตัญญูบุญคุณของบรมครูที่ได้รังสรรค์บทเพลงไพเราะให้เหล่านักร้องทั้งระดับอาชีพ และสมัครเล่นทั่วฟ้าเมืองได้ขับร้องดำรงชีพ หรือ สัณฑนาการ ล้วนแล้วเป็นเรื่องที่น่ายินดี แนวทางการระดมเงินเหมือนเช่นเคย คือ จำหน่ายบัตรพร้อมอาหาร โดยได้รับความกรุณาจากสนามกอล์ฟปัญญา รามอินทรา
บรรยากาศคอนเสิร์ตเชิดชูครูเพลง "บอกรักกันวันนี้" EP2 ครั้งนี้ยังคงนำบทเพลงอมตะ ผลงานที่สร้างชื่อให้กับครูมนัส ปิติสานต์, ครูเนรัญชรา และครูสุรพล โทณะวณิก แต่ด้วยศิลปินนักร้องที่มาร่วมงานครั้งนี้ ล้วนเป็นศิลปินแห่งชาติที่มากความสามารถโดยเฉพาะเพลงสากล ธีมคอนเสิร์ตจึงมีกลิ่นไอดนตรียุค 60's เริ่มจากดนตรีบรรเลง จากการโชว์ฝีมือโซโล่รีทึ่มกีต้าร์ของศิลปิน 3 วิ วิชัย-วิรัช-วินัย ไฮไลท์พิเศษ วินัย พันธุรักษ์ เล่นกีต้าร์เบส
จากนั้นนำเข้าสู่รายการเชิดชูครูเพลง บทเพลงแรก "กลิ่นรักโลมใจ" ผลงานของครูเนรัญชรา ต้นฉบับครูสุเทพ วงศ์กำแหง ครั้งนี้ วิชัย บุญญะยันต์ ขับร้อง ซึ่งยังรัองต่อในเพลง "เก็บรัก" ครูสุรพล โทณะวณิก แต่งไว้ครั้งแรกในชื่อเพลง "ค่าแห่งความรัก" รวงทอง ทองลั่นธม ร้องแต่ไม่เป็นที่รู้จัก กระทั่ง ศรีไศล สุชาตวุฒิ นำมาร้องบันทึกแผ่นในชื่อเพลง "เก็บรัก" จนเป็นที่โด่งดัง
ถึงคิวอาจารย์วิรัช อยู่ถาวร เปิดเวทีด้วยเพลง "ความในใจ".ที่ตนเองประพันธ์ไว้ประกอบละครโทรทัศน์เรื่อง "ปริศนา" ออกอากาศช่อง 3 ช่วงปี 2530 จากนั้นอาจารย์วิรัช อยู่ถาวร เชิดชูครูเพลง ด้วยเพลง "จะคอยขวัญใจ" ครูเนรัญชรา แต่งไว้เมื่อปี 2503 เพื่อให้ครูสุเทพ วงศ์กำแหง นำไปร้องสดออกอากาศในงานวันเกิดช่อง 7 (สนามเป้า) จากนั้นครูสุเทพ วงศ์กำแหง เดินทางไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น 3 ปี ครูเนรัญชรา อดทนรอคอยครูสุเทพถึง 3 ปีเพื่อกลับมาร้องบันทึกแผ่นเสียง ซึ่งสมใจปรารถนาเพลงนี้สร้างชื่อเสียงให้กับครูเนรัญชรา หรือจ่าอากาศเอก สติ สติฐิต ได้รับเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2562
ถึงคิว วินัย พันธุรักษ์ ยังคงอยู่ในช่วงเชิดชูครูเนรัญชรา ครานี้เป็นการโชว์ลูกคอประสานเสียงเพลง "คอยเธอ" ครูเนรัญชรา นำทำนองเพลง "Green Field" มาใส่เนื้อไทย ให้คณะ"สุเทพคอรัส" ขับร้องไว้เป็นเพลงแรกของคณะ ซี่งมี สมาชิก 7 ท่าน ได้แก่ สุเทพ วงศ์กำแหง, ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา, นิทัศน์ ละอองศรี, สุวัจชัย สุทธิมา, อดิเรก จันทร์เรือง, อดุลย์ กรีน และธานินทร์ อินทรเทพ ซึ่งเพลงนี้ ผู้ร้องนำประสานเสียง คือ ธานินทร์ อินทรเทพ ที่ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่รวมถึงสุวัจชัย สุทธิมา
ถึงช่วงเชิดชูครูเทพลง ครูสุรพล โทณะวณิก ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2540 วินัย พันธุรักษ์ นำเข้าด้วยเพลง "รอ" เพลงในความทรงจำเมื่อครั้งครูน้อย สุรพล ไปเล่นน้ำตกมวกเหล็ก ดำผุดเข้าถ้ำไปเจอม่านน้ำหยดกร่อนเซาะหิน ก่อนนำมาแต่งให้ครูสุเทพ วงศ์กำแหง ขับร้อง โดยวางเดิมพันดังไม่ดัง ใครแพ้เลี้ยง 1 โต๊ะ สุดท้ายครูสุเทพ ปราชัย
วินัย พันธุรักษ์ ยังร้องต่อเพลง "หนาวเนื้อห่มเนื้อ" ครูน้อย สุรพล แต่งให้กับวง ดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์ ต่อด้วยด้วยเพลง "ชู้ทางใจ" อีส อารีย์ ร่วมงานกับ วิชัย บุญญะยันต์ ร่วมแต่งในชื่อเพลง “รักในใจ” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ชู้ทางใจ” ก่อนปิดคิวเชิชูครูสุรพล โทณะวณิก ด้วยบทเพลง "คน" ขับร้องโดย ดร.กรวิช เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นอีกหนึ่งบทเพลงอันเป็นที่รักของนักร้องต้นฉบับ สุเทพ วงศ์กำแหง นอกจากนี้ ดร.กรวิช เทพหัสดิน ณ อยุธยา ยังส่งท้ายด้วยเพลง "คิดถึง" (Gypsy Moon) คำร้องภาษาไทยประพันธ์โดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี บันทึกเสียงครั้งแรก พ.ศ.2494 โดย เฉลา ประสพศาสตร์
ถึงคิววง พิ้งค์แพนเตอร์ เริ่มต้นด้วยเพลง "ธารสวาท" ผลงานของครูรักษ์ รักพงษ์ หรือสมณะโพธิรักษ์ แต่งให้คณะสุเทพคอรัส หรือ เป็นการร้องประสานระหว่างสุเทพ วงศ์กำแหง กับทนงศักดิ์ ภักดีเทวา และได้สร้างชื่อให้กับคณะสุเทพคอรัส จนมีรายการโทรทัศน์ "สุเทพโชว์"
นักร้องหนุ่ม อ๊อฟ ศุภณัฐ แห่งค่าย AF ก็มาร่วมทำบุญในคอนเสิร์ตครั้งนี้ โดยเลือกเพลง
"เสน่หา" ผลงานอมตะของครูมนัส ปิติสานต์ แต่งไว้เมื่อครั้งไปเป็นครูสอนดนตรี ที่สถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ ขอนแก่น คืนหนึ่งเหมันต์ลมหนาวพัดพริ้วดวงจันทร์งามเด่นเต็มดวง รำพึงรำพันประหนึ่งความรักล่องลอยมาจนกลายเป็นบทเพลงอมตะ ยิ่งได้สุเทพ วงศ์กำแหง ร้องบันทึกแผ่นเสียงในปี 2507 ทำให้เพลงนี้สร้างชื่อให้กับครูมนัส ปิติสานต์ จนได้รับเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2555 อ๊อฟ ศุภณัฐ ยังคงร้องต่อในเพลง "โอ้รัก" ครูสุรพล โทณะวณิก แต่งไว้ให้กับวงดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์ ก่อนจะส่งไมค์ต่อให้ สรวีย์ ธนพูนหิรัญ ขับร้องเพลง "ภาษาใจ" เพลงที่ครูน้อย สุรพล ถ่ายทอดความรู้ส่วนตัวแต่งให้ สวลี ผกาพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ ขับร้องไว้ สาวน้อยนักร้องรับเชิญ ยังคงร้องต่ออีก 2 เพลง คือ "เปลวไฟรัก" ผลงานครูมนัส ปิติสานต์ บันทึกแผ่นโดย จินตนา สุขสถิตย์ และเพลง "รักไม่รู้ดับ" ต้นฉบับสวลี ผกาพันธุ์ หนึ่งในบทเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับครูสุรพล โทณะวณิก จนได้รับเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2540
คนดนตรีใจบุญ วิชัย ปุญญะยันต์ ขึ้นเวทีอีกครั้งกับเพลง "ชีวิตละคร" คำร้อง ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ และทำนองครูสง่า อารัมภีร ต้นฉบับขับร้องโดย ธานินทร์ อินทร
เทพ เพื่อใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนต์เรื่อง "ละครเร่" ออกฉายในปี พ.ศ. 2512
จากนั้นได้เรียนเชิญรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ศิลปินแห่งชาติ มาร่วมขับร้องเพลงคู่ "วอนรัก" ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ใส่คำร้อง-ทำนองครูสมาน กาญจนผลิน ต้นฉบับคู่ขวัญศิลปินแห่งชาติ สุเทพ & สวลี กอนที่ รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ศิลปินแห่งชาติจะเชิดชูครูเนรัญชรา ด้วยเพลง "พรุ่งนี้ฉันจะรักเธอจนตาย" เพลงนี้ครูสุเทพ วงศ์กำแหง ร้องบันทึกแผ่นไว้เมื่อปี 2505 ซึ่งรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ยังส่งท้ายด้วยเพลง "คนหน้าเดิม" ผลงานของทวีพงศ์ มณีนิล ที่ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำ พระราชทาน คำร้องยอดเยี่ยม ในปี 2519
มาถึงนักร้องรับเชิญคนสุดท้าย สุดา ชื่นบาน ศิลปินแห่งชาติ เปิดฟลอร์เวทีด้วยเพลง "หุ่นไล่กา" ครูมนัส ปิติสานต์ แต่งประกอบละครโทรทัศน์จบในตอน "หุ่นไล่กา" ออกอากาศทางช่อง 5 เมื่อปี 2512 จำนวน 555 ตอน ต่อด้วยเพลง "เพลงสุดท้าย" ผลงานของจิตนาถ วัชรเสถียร แต่งประกอบภาพยนตร์เรื่อง "เพลงสุดท้าย" ของพิศาล อัครเศรณี ออกฉายในปี. 2528
ก่อนที่สุดา ชื่นบาน จะเลือกเพลง "ผู้ชนะ" ของเสกสรรค์ ศุขพิมาย นำมาให้กำลังใจทั้งครูเพลง นักดนตรี และผู้ชม แล้วส่งต่อความบันเทิงให้กับวงพิ้งค์แพนเตอร์ ในเพลง "รักฉันนั้นเพื่อเธอ" ที่ประพันธ์โดยชรัส เฟื่องอารมณ์ พร้อมกับปิดท้ายงานบุญด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีครูเพลงทั้ง 3 ท่าน บัญชีละ 49,999 บาท และต่อสายยืนยันถึงการรับมอบเงิน
https://youtu.be/ZDaRGtZxRX0?feature=shared
#เชิดชูครูพลง #ครูมนัสปิติสานส์ #ครูสุรพลโทณะวณิก #ครูเนรัญชรา #ศิลปินแห่งชาติ