“ธัชชา” เปิดตัวหนังสือ “สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง” 8 ภาษา หวังยกระดับคุณค่ามรดกดินแดนสุวรรณภูมิสู่แหล่งเรียนรู้ระดับโลก
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในการแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ “สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง : องค์ความรู้เพื่อการขับเคลื่อนสู่อนาคต” เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งกิจกรรมหลักของงาน คือ
การเปิดตัวหนังสือ “สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง” ที่มีการจัดพิมพ์และแปลเป็น 8 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส พม่า มลายู เขมร และ เวียดนาม โดยความร่วมมือของสถาบันโลกคดีศึกษาและสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ซึ่งเป็น 2 ใน 5 สถาบัน ในวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ “ธัชชา” ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทําการศึกษาค้นคว้า วิจัย จัดทําฐานข้อมูล พัฒนากําลังคน และนําสู่การพัฒนาเพื่อการขยายผลการศึกษาด้านสุวรรณภูมิศึกษาให้กว้างขวางขึ้น
ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “หนังสือ สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง” เป็นหนังสือที่สามารถใช้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าในระดับนานาชาติ เป็นการรวบรวมหลักฐานและคุณค่าสําคัญซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของภูมิปัญญาสุวรรณภูมิในเชิงประจักษ์ ทั้งจากหลักฐานที่พบและที่ยังสืบสานต่อมาถึงปัจจุบันในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการแสดงถึงมรดกวัฒนธรรม ที่ผสมผสานองค์ความรู้ระหว่าง "ศาสตร์และศิลป์" ที่พัฒนาไปสู่การสร้างและยกระดับคุณภาพชีวิตของคน สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน และสามารถนําภูมิปัญญาดังกล่าวเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ระดับโลก เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและภูมิภาค
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า หนังสือ “สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง” เรียบเรียงขึ้นโดยนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช และได้รับความร่วมมือจากสถาบันโลกคดีศึกษา และสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ในการแปลและจัดพิมพ์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทบทวนประมวลผลงานที่มีการศึกษาค้นคว้าและรายงานในรอบศตวรรษที่ผ่านมาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ที่เริ่มจากการสืบสวนจากนิทานชาดก พงศาวดารและบันทึกต่าง ๆ มาศึกษาค้นคว้าสืบเสาะเชิงประวัติศาสตร์เทียบเคียงกับวิทยาการต่าง ๆ ตามด้วยหลักฐานโบราณคดีและวิธีวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะผลงานการศึกษาล่าสุดเพื่อการนี้จากนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีชั้นนำของไทยและโลก ล้วนสรุปต้องตรงกันว่าสุวรรณภูมินั้นมิได้เป็นเพียงดินแดนในจินตนาการที่เลื่อนลอย แต่มีความเป็นไปได้มากที่จะมีอยู่จริง ตั้งอยู่ ณ อาณาบริเวณระหว่างอินเดียกับจีนที่ทุกวันนี้เรียกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน โดยยังไม่มีข้อยุติว่าเป็นเพียงอาณาบริเวณ เป็นรัฐหรืออาณาจักร และตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งแห่งหนจำเพาะที่พิกัดใด มีความสำคัญในการเป็นฐานสำคัญของการก่อเกิดรัฐแรกคือฟูนันที่คลี่คลายต่อเนื่องเข้าสู่ยุคสมัยประวัติศาสตร์ของอาณาบริเวณนี้ โดยเฉพาะทวารวดีตามลำดับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา ที่มีความพยายามแสดงตำแหน่งแห่งหนของสุวรรณภูมินั้น มีทั้งที่กำหนดเพียงขอบเขตอาณาบริเวณกว้าง ๆ ว่าหมายถึงดินแดนระหว่างอินเดียกับจีน และกำหนดเป็นบางบริเวณหรือที่มีความพยายามกำหนดชัดเป็นจุดมีหลายข้อสันนิษฐาน ที่ได้รับข้อสันนิษฐานมากที่สุดอยู่ที่เมียนมาตอนใต้ ภาคตะวันตกของไทยและตอนบนของคาบสมุทรไทย-มาเลย์ รวมทั้งรายรอบบริเวณก้นอ่าวไทยหรือฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย ชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของมาเลเซีย และบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนามต่อเนื่องถึงกัมพูชา ซึ่งจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์โบราณคดีที่ผ่านมา หลักฐานส่วนใหญ่อยู่ในช่วงสมัยพุทธศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมา จนในระยะหลังเริ่มพบหลักฐานที่สอดคล้องกับที่ปรากฏในบันทึกสมัยโบราณต่าง ๆ โดยเฉพาะการพบหลักฐานใหม่ ๆ ที่มีค่าอายุสมัยใกล้เคียงสอดคล้องกัน คือถึงพุทธศตวรรษที่ 1 – 7 กับยังมีความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาที่มีบทบาทมากต่อสุวรรณภูมิมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณสุไหงบาตู แถบลุ่มน้ำบูจัง รัฐเคดะห์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมาเลเซีย และที่คอคอดกระบนคาบสมุทรไทย-มาเลย์ที่จังหวัดระนองและชุมพรซึ่งต่อเนื่องถึงตอนปลายล่างสุดของเมียนมาบริเวณเกาะสอง ขณะที่มีพบบางหลักฐานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก และต้นแม่น้ำชี-มูล บนเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากอ่าวเบงกอลสู่อ่าวตังเกี๋ย โดยข้อมูลผลการขุดค้นศึกษาใหม่ ๆ ทั้งในเมียนมา ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนามและกัมพูชา อาจจะพบหลักฐานใหม่อื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก
โดยสามารถประมวลคุณค่าอันเป็นมรดกตกทอดแห่งสุวรรณภูมิในเชิงประจักษ์จากหลักฐานต่าง ๆ ได้ 5 ประการ ที่ยังสานต่อมาถึงปัจจุบันในนานาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รวมกันเป็นประชาคมอาเซียน ที่รอการสืบสานต่อไปสู่อนาคต ประกอบด้วย
1) อยู่บนสะพานเชื่อมโลกที่เต็มไปด้วยของดีมีค่า: ด้านภูมิศาสตร์กายภาพและทรัพยากร (Geography Natural and Resources)
2) เป็นย่านผ่านไปมา ตั้งถิ่นฐาน ทำการค้า ก่อตัวนานาเมือง นคร รัฐ และอาณาจักร: ด้านการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของรัฐ (Settlement and Polity Development)
3) เป็นแดนแลกเปลี่ยนและสั่งสมวิทยาการ เทคโนโลยีและการผลิตสำคัญของโลก: ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิทยาการและการผลิต (Science and Technology)
4) เป็นชุมทางและสถานีการค้าสำคัญของโลก: ด้านการค้าขาย พาณิชยการและบริการ (Commercial, Trade and Services)
5) เป็นอู่แห่งศิลปะ วัฒนธรรมและอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่: ด้านศิลปะและวัฒนธรรม (Art, Culture and Civilization)
และหนังสือ “สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง” ยังแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงทางภูมิศาสตร์และทรัพยากร การตั้งถิ่นฐาน การสั่งสมเทคโนโลยีวิทยาการ การเป็นชุมทางการค้าขาย และด้านการเป็นแหล่งรวมศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อการศึกษาสืบค้นหาคําตอบเชิงลึกและขยายผลเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ ชีวิต วัฒนธรรม ทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งคือดินแดนสุวรรณภูมิในอดีต เป็นหนังสือที่อ่านง่ายได้ความรู้ที่ลึกซึ้ง และมีรูปภาพให้ดูประกอบเรื่องราวของ “สุวรรณภูมิ” เป็นที่สนใจของสถาบันทางวิชาการหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีที่ตั้งของสถานศึกษาทั้ง 5 วิทยาเขตอยู่ในภาคใต้ที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สําคัญของโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้เห็นความสําคัญของความรู้ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ที่ได้จากการศึกษาวิจัยวัฒนธรรมภาคพื้นสมุทรภาคใต้ และเริ่มจัดทํา “โครงการสุวรรณภูมิศึกษาที่คาบสมุทรไทย” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2562 โดยต่อจากนี้จะขับเคลื่อนด้วยการก่อตั้งเป็น ศูนย์ศึกษามรดกวัฒนธรรมภาคพื้นทวีป PSU Maritime Cultural Study Center นอกจากนั้นยังได้มีการนำเอาหัวข้อ “การสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมและวิถีสุวรรณภูมิสู่ความยั่งยืน” มาเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ เพื่อความเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณค่าเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับแนวหน้าของโลก และ สอดคล้องกับพันธกิจการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นสังคมฐานความรู้บนพื้นฐานพหุวัฒนธรรม และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืนต่อไป
นอกจากการเปิดตัวหนังสือ “สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง” แล้ว ในวันดังกล่าว ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "จากสุวรรณภูมิสู่การขับเคลื่อนเพื่ออนาคต" โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ การบรรยายพิเศษ "สิ่งค้นพบใหม่จารึกโบราณสมัยพระเจ้าอโศกบนคาบสมุทรไทย" โดย ๓ คณาจารย์จากภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่พบหลักฐานจารึกโบราณร่วมสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีที่แล้วที่คอคอดกระ โดย ดร.อุเทน วงศ์สถิตย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ มั่งมีสุขศิริ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กังวล คัชชิมา ทั้ง 3 ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญภาคภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และการอภิปรายร่วมแลกเปลี่ยน หัวข้อ “สุวรรณภูมิกับการขับการเคลื่อนสู่อนาคต" รวมถึงการแถลงความร่วมมือระหว่าง ธัชชา กับ ไทยพีบีเอส เกี่ยวกับการร่วมกันจัดทำชุดสารคดีสั้นที่ต่อเนื่องจาก สารคดีรากสุวรรณภูมิ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับคุณค่ามรดกวัฒนธรรมของชาติอีกด้วย