วันนี้วันช้างไทย ... แล้วช้างยิ้มหรือร้องไห้ ?? ครับ
น.ต.วรวิทย์ เตชะสุภากูร ร.น.อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรี เขียนและโพสต์ไว้ตั้งแต่ปี 2558 วันนี้!! ปี 2567แล้ว เพื่อนๆคิดกันยังไง คอมเม้นมาได้นะครับ
เราๆ ท่านๆ คงรู้จักช้างกันมาตั้งแต่เด็กแล้ว ความผูกพันระหว่างคนกับช้างมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายหลากมิติ
เราๆ ท่านๆ คงรู้จักช้างกันมาตั้งแต่เด็กแล้ว ความผูกพันระหว่างคนกับช้างมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายหลากมิติ จนกระทั่งวันที่ 26 พ.ค. 2541 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้วันที่ 13 มี.ค.ของทุกปี เป็นวันช้างไทย เพราะเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติมีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย เพื่อให้คนไทยหันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง และช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น
สถานะของช้างมีความสำคัญมาตั้งแต่อดีต เป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ไทย ธงชาติไทยก็เคยใช้รูปช้างเผือกบนแถบไตรรงค์ และยังเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวที่เคยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นถึง “เจ้าพระยา” ในครั้งสงครามยุทธหัตถี สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พ.ศ. 2135 ในเชิงเศรษฐกิจยังเป็นสัตว์พาหนะในการคมนาคมและการอุตสาหกรรมป่าไม้
เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2558 ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมงานเสวนาและเปิดตัวหนังสือชื่อว่า “บันทึกของลูกช้าง” ซึ่งเขียนคำนิยมโดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล และเขียนเรื่องโดยคุณกัญจนา ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษามูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ที่เลือกโปรยเนื้อเรื่องในมุมของการตีแผ่เรื่องจริงของช้างไทยที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน แต่มีอะไรบ้างนั้น เรามาฟังพร้อมกัน
เริ่มด้วยความสงสัยว่า ทำไมช้างตัวใหญ่ขนาดนั้น ถึงยอมทำตามคำสั่งของคนซึ่งตัวเล็กกว่าเยอะ ก็เพราะตั้งแต่เกิดมาอายุยังไม่ถึง 2 ขวบ ยังไม่หย่านม ก็ต้องเจอกับ “การผ่าจ้าน” คือการพรากลูกช้างออกจากอกแม่ช้างโดยการล่ามโซ่แม่ และใช้เชือกคล้องลูกช้างแล้วดึงแยกออกจากกันและประกอบพิธีทางอาคม เพื่อตัดความสัมพันธ์ความรักระหว่างแม่กับลูกช้าง ถ้าช้างขัดขืนก็จะถูกตะขอสับช้างทำด้วยเหล็กแหลมสับไปที่ลำตัวหรือใบหูช้าง จนช้างต้องยอม และจดจำความเจ็บปวดเช่นนี้ตั้งแต่เด็ก ถึงขนาดสูญเสียจิตวิญญาณของช้างไปเลย
ส่วนช้างที่มารองรับนักท่องเที่ยว ทั้งคนทั้งกระเป๋าทั้งเสลี่ยง รวมกันเป็นร้อยกว่ากิโลกรัม หนักจนขาสั่น แต่ก็ต้องเดินไปในลำธารบ้าง เนินเขาบ้าง บางตัวกระดูกหลังหักก็ยังต้องเดิน ส่วนช้างที่จัดแสดงความสามารถให้ชม เช่น ช้างวาดรูป จริงๆ แล้วช้างวาดรูปเองไม่เป็น แต่ที่วาดได้เพราะควาญช้างเป็นคนสับตะขอที่หลังหูช้างและลากเพื่อกำหนดให้เกิดเส้นสายของรูป แล้วก็ขายรูปได้จากความเอ็นดูและชื่นชมคิดว่าเป็นความสามารถของช้าง แต่ความจริงเป็นความเจ็บปวดอีกครั้งของช้างอีกแล้ว จุดนี้เราควรออกจากกับดักที่อ้างประโยชน์เพียงเสี้ยวหนึ่งของการท่องเที่ยวให้ได้
ยังมีช้างที่มาเดินบนถนนมาจากลูกช้างที่ถูกนำมาขายต่อหรือนำไปเป็นช้างเร่ร่อนขอทาน เพื่อให้คนซื้อกล้วยอ้อยให้ช้างกิน ถ้าไม่มีใครซื้อก็ต้องเดินต่อไปโดยไม่ให้กินอะไร ต้องทนเดินบนถนนที่ร้อนระอุขรุขระ เท้าช้างพองเจ็บแสบแล้วปล่อยให้หายเอง ตอนกลางคืนต้องนอนที่พงหญ้ารกร้าง ยุงก็ชุมกัดจนเป็นแผลเต็มตัวอีก
ทั้งหมดนี้เป็นความจริงของเหรียญอีกด้านหนึ่งเพียงเศษส่วนหนึ่งเท่านั้น ทั้งหมดนี้ช้างคงยิ้มไม่ออกแน่ พฤติกรรมความน่ารักหลายอย่างจากการแสดง ไม่ใช่ธรรมชาติหรือนิสัยจริงของช้างหรอก คนเรานี่เองที่ใจร้ายบังคับหรือบางท่านใจดีไปสนับสนุนให้เกิดธุรกิจที่เอาเปรียบช้างโดยไม่รู้ตัว
เมื่อรู้เช่นนี้แล้วคงอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เราเริ่มนับ 1 เพื่อแก้ปัญหาโดยสร้างและขยายการรับรู้ช่วยกันสื่อสารถึงความจริงชุดนี้ให้กว้างขวางและต่อเนื่อง
นับ 2 ที่การปรับรูปแบบกิจกรรมเพื่อนักท่องเที่ยว ยกตัวอย่าง
หลินปิง หมีแพนด้าที่มาอยู่เมืองไทย คุณกัญจนาเคยบอกว่าไม่เคยได้ยินหรือมีใครไปบังคับให้หลินปิงต้องทำอะไรโชว์นักท่องเที่ยวเลย ใครๆ ก็รอดู แค่ว่าหลินปิงจะทำอะไรบ้างก็โอแล้ว หรือเราลองปรับให้ปางช้างจัดแสดงวิถีชีวิตตามธรรมชาติของช้างดีกว่า
นับ 3 ในแง่กฎหมายเพราะช้างมี 2 ประเภท คือ ช้างบ้านกับช้างป่า ช้างบ้านเป็นช้างมีเจ้าของ อยู่ในประกาศสัตว์พาหนะของกระทรวงมหาดไทย ส่วนช้างป่าอยู่ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 นั่นคือช้างบ้านไม่มีกฎหมายคุ้มครองเหมือนช้างป่า หลายฝ่ายอยากให้ช้างบ้านมารวมอยู่ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าด้วย เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมาได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ที่กำหนดความผิดและโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท จากเดิมมีโทษจำคุกแค่ไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับความเจ็บปวดที่สัตว์ตะโกนให้คนได้ยินไม่ได้ และต้องช่วยกันติดตามกฎหมายหรือประกาศในรายละเอียดที่จะทยอยออกมาด้วย
สุดท้ายระดมพลรักษาและทวงคืนผืนป่า จากนายทุนผู้บุกรุกอย่างผิดกฎหมายไม่ว่ากรณีเรื่องสิ้นสุดในชั้นศาลแล้วหรือมีหลักฐานการละเมิดสมบัติของชาติ ต้องรวมศูนย์จัดชุดเฉพาะกิจสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยึดคืนรื้อถอนโดยเร็วภายใน 3 เดือนให้ได้ เพราะป่าย่อมเป็นบ้านหลังใหญ่ของช้างและสัตว์ป่าอื่่นๆ โดยจะมีทั้งที่อยู่ ที่กินที่นอนเพียงพอในป่าใหญ่
มาถึงตรงนี้ ผมคิดว่าเรื่องนี้ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาเป็นตัวช่วยบ้างก็ดี การใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาชาติคงไม่มีใครว่าครับ ถ้าจะให้ดีมากกว่านี้ ลองใช้มาตรา 44 ไปถึง “อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม” ด้วย ก็จะสาธุ...ครับ
ผ่านมาเกือบ10ปี.. เพื่อนๆคิดเห็นประเด็นเรื่องช้างว่าไงบ้าง เม้นกันมาได้นะครับ
#13มีนาคม
#วันช้างไทย
#พี่วิทย์ #HumanLoveEarth #วรวิทย์เตชะสุภากูร #ทำดีทำบุญทำงาน