วธ. เปิดการอบรม Hackathon ชุมชนแชมป์เปี้ยน นักเล่าเรื่อง “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี 2567
กระทรวงวัฒนธรรม ยกระดับนักเล่าเรื่องชุมชน เปิดกิจกรรมการอบรม Hackathon ชุมชนแชมป์เปี้ยน นักเล่าเรื่อง “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ภายใต้โครงการชุมชนแชมเปี้ยน นักเล่าเรื่อง “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 หวังผลักดันเด็ก เยาวชนในพื้นที่ 30 สุดยอดชุมชนต้นแบบ ต่อยอดสู่ 10 สุดยอดนักเล่าเรื่อง “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” พัฒนาทักษะการเล่าเรื่องในแบบฉบับอินฟลูเอนเซอร์มืออาชีพ สร้างสำนึกรักชุมชนบ้านเกิด
นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม Hackathon ชุมชนแชมป์เปี้ยน นักเล่าเรื่อง “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ภายใต้โครงการชุมชนแชมป์เปี้ยน นักเล่าเรื่องชุมชน “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีเด็ก เยาวชนจากสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ซึ่งผ่านการคัดเลือกเป็นตัวแทนของจังหวัด จำนวน 30 ชุมชน ๆ ละ 1 ทีม ๆ ละ 2 คน รวม 60 คน เข้าสู่กระบวนการอบรมและระดมความคิดจากวิทยากรชั้นนำในเนื้อหาด้านต่างๆ เพื่อให้เยาวชนนำทักษะความรู้ที่ได้รับไปผลิตผลงานต่อไปในอนาคต
สำหรับการอบรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคุณบิ๊ก - ณภัทร ตั้งสง่า ผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่ วิทยากร อาจารย์ อินฟลูเอนเซอร์ ครีเอเตอร์ และ นักเขียนหนังสือ Best Seller จากผลงาน “สร้างเงินล้าน ผ่านViral Clip” และ Born to Succeed ฝันใหญ่ใจต้องนิ่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้กำกับอิสระ และนักสร้างคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มต่างๆ พร้อมด้วยคุณฟาง รัฐโรจน์ จิตรพนา ครีเอทีฟ มาร์เก็ตติ้ง จาก The Standard อดีต Co-Host ชื่อดังจากรายการใดๆ ในโลกล้วนฟิสิกซ์ โดยกำหนดอบรมจำนวน 2 วัน ในหัวข้อ “วิธีการคิด คอนเทนต์” , การตัดต่อด้วยมือถือผ่านแอพลิเคชั่น Capcut , ขั้นตอนงาน Social Media Marketing กิจกรรมเวิร์คชอป The Power within stories , กิจกรรมการระดมความคิด ผลิตสื่อวีดิทัศน์ด้วยตนเอง
ทั้งนี้ ภายหลังจากได้รับการอบรมแล้ว ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 30 ทีม จะต้องนำความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ที่ได้รับจากการอบรม Hackathon กลับไปพัฒนาวีดิทัศน์ เพื่อนำเสนอชุมชน ยลวิถีในแบบฉบับของตนเอง ให้ออกมาน่าสนใจมากที่สุด โดยจัดทำทีมละ 1 เรื่อง ความยาวไม่เกิน 3 นาที พร้อมจัดส่งผลงานกลับมาให้คณะกรรมการ เพื่อทำการตัดสินให้เหลือ 10 ผลงาน ซึ่งทั้ง 10 ผลงาน จะได้รับเกียรติบัตรและเงินรางวัล โดยผลงานในลำดับที่ 1-5 จะได้รับการ Remaster เพื่อสร้างสรรค์ให้เป็นผลงานในระดับ Masterpiece และเผยแพร่ลงรายการเรื่องจริงผ่านจอ ทางช่อง 3HD ต่อไป และทั้ง 30 ผลงาน จะได้รับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ ได้แก่ Facebook เรื่องจริงผ่านจอ Kantana และ Youtube เรื่องจริงผ่านจอ
นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี กล่าวว่า “กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในประเด็นการสนับสนุนการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยนำมิติทางวัฒนธรรมมาพัฒนาศักยภาพอุสาหกรรมวัฒนธรรมให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยมุ่งเน้นนำทุนทางวัฒนธรรม อัตลักษร์ชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสร้างให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ในระดับชุมชน
ซึ่งการที่จะนำเสนอเนื้อหาดังกล่าวในยุคปัจจุบันนั้น จำเป็นต้องอาศัยอินฟลูเอนเซอร์เป็นตัวกลางในการเล่าเรื่อง สื่อความหมาย สร้างเนื้อหา
และจัดทำคลิปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดเรื่องราวของคุณค่าความโดดเด่นน่าสนใจของชุมชน เผยแพร่ทางสื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว จำหน่ายสินค้า และบริการของชุมชนสร้างาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง และเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศให้มั่นคงต่อไป”