"เครือข่ายอาชีวะ" ร้อนใจเตรียมยื่นนายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งเคลียร์การบริหารงานของอาชีวะให้เกิดธรรมาภิบาลโดยเร็ว หลังผู้รับเหมาร้อง ปปช. และนายกรัฐมนตรี กรณีเลขาอาชีวะสั่ง ผอ.เทคนิค กลับเข้ารับราชการทั้งที่ศาลอาญาทุจริตรับฟ้องแล้ว
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา
นางประภัสสร ม่วงทิพย์ ซึ่งเป็นผู้รับเหมาปรับปรุงอาคารโรงอาหารของวิทยาลัยเทคนิคธัญบุรี สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
ได้นำหนังสือเข้ายื่นเรื่องร้องเรียนถึงประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.และนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องขอความเป็นธรรมกรณีร้องเรียนการทุจริตการปฎิบัติหน้าที่ของนายเพชรโยธิน ราษฏร์เจริญ อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งคดีเกิดตั้งแต่ปี 2564
จนถึงปัจจุบันทางอัยการคดีปราบปรามทุจริตภาค 1 สั่งฟ้องต่อศาลอาญาปราบปรามทุจริตภาค 1 ศาลได้รับฟ้องตกเป็นจำเลยไปเรียบร้อย เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 แต่นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการกรรมการการอาชีวศึกษา ได้สั่งให้กลับเข้ารับราชการโดยอ้างเหตุผลว่าเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง และคำสั่งให้พักราชการที่ นายธนุ วงษ์จินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สั่งพักราชการไว้ก่อนหน้านี้ไม่ชอบด้วยระเบียบกฎหมาย
โดยในครั้งนี้นางประภัสสร ม่วงทิพย์ซึ่งเป็นผู้เสียหายยังเดินหน้าร้องเรียนเหมือนที่เคยร้องมาตลอดว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณีการดำเนินการทางวินัยของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่เป็นต้นสังกัดได้ออกคำสั่งให้นายเพชรโยธิน ราษฏร์เจริญ กลับเข้ารับราชการ
เพราะรับฟังรายงานจากกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงที่สรุปว่าไม่มีความผิด อ้างว่าเงินสินบนที่ ปปท.และตำรวจเข้าจับกุมนั้นเป็นเงินบริจาค ซึ่งทาง ปปท.เองได้มีหนังสือสอบถามเข้ามาหลายครั้งแต่ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาไม่ตอบซึ่งตนได้คัดค้านและยื่นเรื่องต่อ ปปช. ตรวจสอบการปฎิบัติหน้าที่ของกรรมการสอบสวน อยู่ในขณะนี้
แต่เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา
นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กลับมีคำสั่งให้นายเพชรโยธิน ราษฎ์เจริญ อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคธัญบุรี กลับเข้ารับราชการที่วิทยาลัยการอาชีพพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ทั้งที่ตามกฎ ก.ค.ศ.
หรือกฎระเบียบข้าราชการครูเขียนไว้ชัดเจนว่าเมื่อข้าราชการโดนสอบสวนวินัยร้ายแรงหรือถูกกล่าวหา ถูกดำเนินคดีอาญาในฐานความผิดทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ผู้บังคับบัญชาจะต้องลงโทษสั่งพักราชการหรือให้ออกไว้ก่อน
ซึ่งเรื่องนี้มูลเหตุเดิมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้สั่งพักราชการไว้ก่อนตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ 584/2566 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2566 ให้พักราชการ
นายเพชรโยธิน ราษฎร์เจริญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคธัญบุรี ขณะนั้น เพราะเหตุที่พนักงานสอบสวน สภ.ธัญบุรี มีความเห็นสั่งฟ้องจนตกเป็นผู้ต้องหาในคดีความผิดฐานเรียกรับสินบนเพื่อแลกกับการตรวจรับงานจ้างและสั่งอนุมัติจ่ายเงินค่าจ้าง ตามที่ทางเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. และตำรวจลงพื้นที่จับกุมพร้อมเงินสดได้ที่ห้องทำงานตามที่สื่อหนังสือพิมพ์สื่อทีวีเสนอข่าวไปอย่างแพร่หลายก่อนหน้านี้
เวลาผ่านไปจนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมาพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามทุจริต 1 ภาค 1 ได้ยื่นฟ้องนายเพชรโยธิน ราษฎร์เจริญ ต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนและเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตตามมาตรา 149 และ 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1ได้รับฟ้องไว้แล้วปรากฎตามหนังสือสำนักงานอัยการคดีพิเศษฝ่ายปราบปรามทุจริต 1 ภาค 1 ที่ตอบตามหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่ได้สอบถามขอทราบผลคดีไป เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นที่สงสัยว่าเหตุใด นายยศพล เวฬุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ไม่ออกคำสั่งให้ผู้ที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ พักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อนจนกว่าคดีจะสิ้นสุด
นางประภัสสร ม่วงทิพย์ ผู้เสียหายจึงมีข้อสงสัยว่าเหตุใดการดำเนินการของนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จึงออกคำสั่งให้นายเพชรโยธิน ราษฏร์เจริญ
กลับมาปฎิบัติราชการอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้คัดค้านผลการสอบสวนของกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงที่สรุปว่าเงินที่ ปปท.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมนั้นเป็นเงินบริจาค ไม่ใช่เป็นเงินเรียกรับสินบนจากตน ซึ่งทาง อ.ก.ค.ศ.อาชีวศึกษาและก.ค.ศ.ได้พิจารณาและลงมติว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิดวินัยร้ายแรงตามที่ถูกกล่าวหา ถือเป็นความผิดเพียงเล็กน้อยให้ลงโทษแค่ว่ากล่าวตักเตือน จึงยิ่งทำให้ตนสงสัยในการกระบวนการสอบสวนในครั้งนี้ว่ามีการวิ่งเต้นช่วยเหลือกันการดำเนินการโปร่งใสหรือไม่ ซึ่งคดีนี้นางประภัสสร ได้แจ้ง ปปท. ให้เข้าจับกุมการเรียกรับเงินสินบน และตนก็ได้ยืนยันให้การกับพนักงานสอบสวน อัยการปราบปรามการทุจริต ปปท. ปปช. สื่อมวลชนมาตลอดว่าเป็นการเรียกรับสินบน ตนเองไม่ได้บริจาคเงิน เหตุใดกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงของทางอาชีวะ จึงสรุปรายงานการสอบสวนออกมาเช่นนั้น ทั้งที่ไม่ได้ดูสำนวนการจับกุมหรือขอเชิญเจ้าหน้าที่ปปท.และตำรวจที่จับกุมให้ข้อมูลแม้แต่คนเดียว และการจับกุมของ ปปท.ก็ปฎิบัติหน้าที่ชอบด้วยระเบียบกฎหมายแล้ว ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยตอบมาแล้วหลังจากที่นายเพชรโยธิน ราษฎ์เจริญ ได้ร้องเรียนกล่าวหา ปปท.ว่าการจับกุมของปปท. นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตนไม่แน่ใจว่ากรรมการสอบสวนวินัย ได้ไปเอาหลักฐานมาจากไหน จึงสรุปรายงานการสอบสวนออกมาไม่ผิด แค่ให้ตักเตือนแบบนี้
นางประภัสสร กล่าวว่าตนในฐานะผู้ร้องเป็นประชาชนธรรมดาที่ไม่มีอำนาจอะไรที่จะมาต่อสู้กับผู้ที่มีตำแหน่ง มีอำนาจรัฐอยู่ในมือได้นอกจากร้องขอความเป็นธรรมจากองค์กรอิสระ คือ ปปช. และจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไป จึงต้องมาร้องต่อ ป.ป.ช.และนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าวให้เกิดความยุติธรรมต่อตนเอง และต้องการรักษาไว้ซึ่งหลักธรรมาภิบาลขององค์กร คือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการซึ่งถือว่าเป็นกระทรวงที่สำคัญยิ่งต่ออนาคตประเทศชาติ เป็นแม่พิมพ์ในการสอนเด็กและเยาวชนให้ มีความรู้มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นสำคัญ เพราะการออกคำสั่งของ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในครั้งนี้ อาจทำให้ผู้ที่ถูกศาลรับฟ้องคดีแล้วกลับมาเป็นผู้บริหารสถานศึกษาอย่างปกติ อาจสร้างอิทธิพลให้ไม่ถูกลงโทษทางวินัย ละเว้นไม่รักษากฎหมาย ระเบียบในการบริหารงานบุคคล ทำให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรงเสมือนส่งเสริมสนับสนุนให้ข้าราชการทุจริตและประพฤติมิชอบมีอำนาจและตำแหน่งหน้าที่หรือไม่ ส่งผลต่อภาพลักษณ์และนโยบายในการปราบปรามทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการ
ด้านนายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษา(ค.ร.อ.ท.)ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าตนได้ติดตามการสอบสวนและการดำเนินคดีมาตั้งแต่ต้นตามที่สื่อต่างๆเสนอข่าว ตั้งแต่ปปท.และตำรวจเข้าจับกุมจนมาถึงวันนี้ซึ่งอัยการปราบปรามทุจริตภาค 1 ได้มีคำสั่งฟ้องต่อศาลคดีทุจริตและศาลได้รับฟ้องจนตกเป็นจำเลยในคดีทุจริต และได้มีหนังสือแจ้งมาที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ตนไม่แน่ใจว่าทาง กรรมการสอบสวนวินัย กรรมการ อ.ก.ค.ศ. กรรมการ ก.ค.ศ. หรือเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้รับทราบหนังสือฉบับนี้หรือไม่ คดีดังกล่าวนี้จึงสร้างความสั่นสะเทือน กระทบความเชื่อมั่นต่อระบบธรรมาภิบาล ความโปร่งใสในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทำให้หลายๆคนมองดูว่าการบริหารจัดการงานบุคคล งานวินัย งานคดีความต่างๆ ในหน่วยงานแห่งนี้มีความเป็นมาตรฐานขนาดไหนดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใสหรือไม่ ทางเครือข่ายอาชีวะได้ยินข่าวในลักษณะนี้มาตลอด แต่ไม่มีคำตอบให้ภาคประชาชน หรือแม้แต่ ปปท. ปปช. และในกรณีนี้เหตุใดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จึงไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎของ กคศ.ที่ว่าเมื่อข้าราชการถูกฟ้องในคดีอาญาในฐานความผิด ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่แล้ว ผู้บังคับบัญชาต้องสั่งพักหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนจนกว่าคดีจะสิ้นสุดเหมือนกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้สั่งให้รองผบ.ตร.ท่านหนึ่งออกจากราชการไว้ก่อน ทั้งที่ศาลยังไม่ได้รับฟ้อง
นายเศรษฐศิษฎ์ กล่าวต่อไปว่า หากพิจารณาตามกฏระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการให้พักและออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2555 ข้อที่ 3(1) หากข้าราชการถูกฟ้องในคดีอาญาฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
ผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการออกคำสั่งให้เป็นไปตามกฎ ก.ค.ศ.ในข้อนี้
ดังนั้นตนในฐานะประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) ซึ่งเป็นภาคประชาชนจะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้มีการตรวจสอบว่าการดำเนินการของเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รวมถึงการปฎิบัติหน้าที่ของกรรมการสอบสวนวินัย ,อ.ก.ค.ศ. และ ก.ค.ศ. รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องว่าได้ดำเนินการด้วยความสุจริต โปร่งใส
มีความเป็นธรรม ชอบด้วยระเบียบกฎหมายหรือไม่ เพราะคดีดังกล่าวอยู่ในความสนใจของประชาชนทั้งประเทศที่คอยติดตามว่าผลของคดีจะจบลงอย่างไร หากยังไม่มีความคืบหน้าก็จะยื่นเรื่องต่อองค์กรอิสระหรือสภาผู้แทนราษฎรเพื่อตรวจสอบต่อไป
ติดต่อร้องเรียน/ชี้แจง
มุมมองร้องทุกข์
โดยทีมงาน อ็อด อินทรีย์
0969099986