ต้นแบบคลังอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ตหลังบ้าน
Food bank ในชุมชนปางมะโอ คนอยู่ร่วมกับป่า
บ้านแม่ซ้าย ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร อยู่ระหว่างหุบเขา มีเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ อาชีพดั่งเดิมของชาวบ้านยึดหาของป่า ทำสวนเมี่ยง กาแฟ ปลูกผัก และรับจ้างทั่วไป
ปัจจุบันโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางมะโอ ได้รับการส่งเสริมอาชีพเพื่อให้มีความหลากหลายของรายได้ ด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนจากพืชท้องถิ่น รวมทั้งการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ทั้งการปลูกป่า ทำฝาย ปรับระบบเกษตรกรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดใช้สารเคมี ทำปุ๋ยหมัก ภายใต้การสนับสนุนโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้จัดทำแผนที่ดินรายแปลงรวมทั้งปรับระบบการใช้พื้นที่ให้เหมาะสม จนเกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานอย่างบูรณาการ ทำให้ชุมชนบ้านแม่ซ้ายมีความมั่นคงทางด้านอาหาร คนอยู่ร่วมกับป่าได้ดี ทำน้อยแต่ได้มาก ภายใต้พื้นที่จำกัด
นายสมนึก บุญเกิด หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางมะโอ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง หรือสวพส. กล่าวว่า ก่อนที่จะเข้าไปส่งเสริม บ.แม่ซ้าย เจ้าหน้าที่สวพส. ได้ทำการศึกษาพื้นที่ชุมชน ซึ่งดั้งเดิมชาวบ้านมีอาชีพปลูกเมี้ยง กาแฟและปลูกพืชผักระยะสั้น แต่ด้วยเป็นชุมชนในป่า ทำให้ไม่สามารถปลูกพืชได้หลากหลายมากนัก ทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เพื่อเป็นการป้องกันการเพิ่มพื้นที่ทำกิน ที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่า จึงต้องหาอัตลักษณะของพื้นที่ และพบว่าบ้านแม่ซ้ายมีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชสมุนไพร พืชท้องถิ่น โดยเฉพาะต้นเมี้ยง หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ต้นชาอัสสัม และเป็นชุมชนต้นน้ำเหมาะที่จะพัฒนาอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
จึงเกิดกระบวนการนำองค์ความรู้ของโครงการหลวงเข้าไปในพื้นที่ โดยส่งเสริมการทำเกษตรในระบบวนเกษตรเพื่อสร้างรายได้และสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Bank) และส่งเสริมให้ปลูกต้นเมี้ยง หรือต้นชาอัสสัม และพัฒนาต่อยอดแปรรูปเช่นเดียวกับกระบวนการทำชา จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ชาอัสสัมเพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาพักในชุมชน และจำหน่ายทางออนไลน์ ปัจจุบันถือว่าบ้านแม่ซ้ายมีความเข้มแข็ง สามารถเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเห็นได้จากรางวัลที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ ได้แก่ รางวัลเลิศรัฐ รางวัลปลอดการเผา รางวัลลูกโลกสีเขียว รางวัลโครงการส่งเสริมและการพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ประจำปี 2549
นอกจากนี้ สวพส. ยังส่งเสริมให้ลูกหลานเกษตกรได้เข้ามาเรียนรู้การทำเกษตรประณีตแบบโครงการหลวงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพัฒนาให้เป็นยุวเกษตรกรเพื่อให้เกิดการสานต่อจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นการสร้างจิตสำนึกใหกับเกษตรกรรุ่นใหม่ในการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการดูแลผืนป่าที่เป็นต้นน้ำของชุมชนอีกด้วย
นางสาววนิดา มหาเดชาชาญ ประธานกลุ่มวิสาหกิจบ้านแม่ซ้าย อ.เชียงดาว กล่าวว่า ชุมชนบ้านแม่ซ้ายมีทั้งหมด 34 ครัวเรือน ดั้งเดิมทำสวนเมี้ยง และปลูกกาแฟ เกษตรกรมีหนี้สินเพราะรายได้ไม่เพียงพอ ต่อมา สวพส.ได้นำองค์ความรู้ของโครงการหลวงเข้ามาถ่ายทอดในพื้นที่ ส่งเสริมให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่า ยกระดับพืชผักสมุนไพร พร้อมๆ กับสนับสนุนให้ปลูกไม้ผล และปลูกผักสลัดระยะสั้น ควบคู่กับการทำชาอัสสัม โดยนำเมี้ยงที่เป็นพืชท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอดเป็นชาอัสสัม และส่งเสริมการแปรรูปสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ยังมีการรวมกลุ่มสมาชิกจัดตั้งเป็นวิสาหกิจบ้านแม่ซ้าย ปัจจุบันมี 34 ครัวเรือน มีผลิตที่แปรรูป อาทิ ชาอัสสัม ชาเลือดมังกร และยังมีน้ำผึ้งป่า เดือน 5 ที่เก็บเฉพาะเดือนเมษายน ซึ่งผลิตภัณฑ์ไม่เพียงพอกับความต้องการตลาด แต่มีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันเริ่มขายผ่านทางออนไลน์ด้วย ทางเพจเฟสบุ๊ควิสาหกิจชุมชนบ้านแม่ซ้าย เพื่อเป็นรายได้เสริมอีกทาง ส่งผลให้เกษตรกรในบ้านแม่ซ้ายมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้หนี้สินผ่อนคลายลงไป และชุมชนมีการพัฒนาร่วมกับการดูแลรักษาผืนป่าให้
นายณัฐพงษ์ สีคำสุข ยุวเกษตรกรในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางมะโอกล่าวว่า ผมเคยเป็นเยาวชนในหมู่บ้าน เรียนจบก็ตัดสินใจกลับมาบ้านทำเกษตรในโรงเรือนเพราะมองเห็นโอกาสว่าสามารถปรับวิถีชีวิตในชุมชนได้ เนื่องจากเทคโนโลยีทางการเกษตรในปัจจุบ้นมีความก้าวหน้ากว่าสมัยก่อน และเจ้าหน้าที่ของ สวพส. ก็มาให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จึงคิดว่าไม่ยากและได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับต้องทำงานในเมือง แต่เงินเดือนที่ได้มาต้องหมดไปกับค่าเดินทาง ค่าเช่าหอพัก ซึ่งไม่เหลืออะไร แต่ถ้าเราทำเกษตรในโรงเรือน แม้จะทำแค่ 4 โรงเรือน แต่ก็ทำให้มีรายได้ประมาณ โรงเรือนละ 20,000 บาท ซึ่งถือว่าใช้ได้ และยังใช้พื้นที่น้อย แต่มีรายได้มาก และยังเป็นเกษตรปลอดสารเคมี เกษตรกรไม่ต้องกังวลเรื่องดินฟ้าอากาศมากนัก ทำให้มีรายได้อาจจะมากกว่าไปทำงานในเมือง เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายกับการเดินทางและอื่น ๆ อีกมากมาย แถมยังได้อยู่กับครอบครัวและธรรมชาติที่บริสุทธิ์อีกด้วยครับ