พิพิธภัณฑ์เกษตรฯชวนเที่ยวงาน มหกรรม “ภูมิพลังแผ่นดิน” ระหว่าง 5 - 8 ธ.ค 67 เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่9 ด้านการอนุรักษ์และพัฒนาดิน
พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดเผยว่า “ในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันดินโลก ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จัดงานมหกรรม “ภูมิพลังแผ่นดิน” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาทรัพยากรดินเพื่อการเกษตร สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน การจัดการดินอย่างยั่งยืน ภายในงานได้จัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติฯ นิทรรศการ “ภูมิพล ดลดิน”
ที่แสดงถึงพระเกียรติคุณพระอัจฉริยภาพด้านการจัดการดิน เพื่อการเกษตร นำเสนอและถ่ายทอดภูมิปัญญาการจัดการดิน รวมทั้งการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการจัดการดินที่เหมาะสมและใช้ประโยชน์จากดินอย่างเต็มประสิทธิภาพภายในงานจัดให้เรียนรู้การผสมดินสูตรพิเศษของพิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ นิทรรศการ “ผู้น้อมนำ ภูมิพลังแผ่นดิน” จากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ นิทรรศการจากหน่วยงานภาคีความร่วมมือ เช่น นิทรรศการของกรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม บริษัทไปรษณีย์ไทย สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายตลอดทั้ง 4 วัน”
นางสาวสำเภาว์ งามเชย รองผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฝ่ายพัฒนา ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “ภายในงานผู้มาร่วมงานจะได้เรียนรู้ จากนิทรรศการ กิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้ จากบุคคลต้นแบบผู้น้อมนำแนวพระราชดำริไปประยุกต์ใช้และประสบความสำเร็จ มาส่งต่อแรงบันดาลใจ
ครั้งนี้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จัดเต็มกับ 6 ฐานนิทรรศการ ได้แก่ นิทรรศการ “ผู้น้อมนำ ภูมิพลังแผ่นดิน”“วิถีดิน วิถีชีวิต วิถีเกษตร”“ดินดี มีชีวิต”“ภูมิศาสตร์ เพื่ออนุรักษ์ดิน”“พืชฟื้นฟูดิน” และ “นักปรับปรุงดิน” ครั้งนี้มีการเสวนา “ผู้น้อมนำ..ภูมิพลังแผ่นดิน” อบรมวิชาของแผ่นดินและอบรมเชิงปฏิบัติการ มากกว่า 20 หลักสูตร โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในรูปแบบ Onsite และ Online เช่น หลักสูตร“ศาสตร์ยาสมุนไพรไทย” โดยพระมหาขวัญชัย อัคคชโย จ.ชุมพร หลักสูตร “การจัดการดินเพื่อการเกษตร” โดยอาจารย์อัญธิชา พรมเมืองคุก หลักสูตร “การแปรรูปผลิตภัณฑ์ สู่เกษตร” โดยอาจารย์พิมพ์ใจ ดวงเนตร กรุงเทพฯ หลักสูตร “เกษตร 9 รู้ 9 รอด”โดยอาจารย์เฉลิม พีรี จ.กำแพงเพชร หลักสูตร“กระบองเพชรยักษ์กินได้” โดยอาจารย์วนิดา วรรณสโร จ.นครปฐม หลักสูตร “เห็ดเยื่อไผ่” และ Workshop “สบู่วุ้นเห็ดจากเยื่อไผ่” โดยอาจารย์จันทร์พิมพ์ อินทร์ภิบาล จ.ลำปาง
และหลักสูตร “ปุ๋ยจานด่วน” โดยอาจารย์เพชรรุ่ง พุกกะเวส จ.จันทบุรี เพลิดเพลินกับการเลือกซื้อสินค้าเกษตรปลอดภัย ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ อาหารพื้นบ้านจากทุกภูมิภาค และต้นไม้นานาพันธุ์ กว่า 200 ร้านค้า ตลอดทั้ง 4 วัน
เปิดให้เข้าชม 2 พิพิธภัณฑ์ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเรา และพิพิธภัณฑ์ดินดล พร้อมกิจกรรมพิเศษ สินค้าขาดทุนคือกำไร กิจกรรมล่าตราประทับรับของที่ระลึก กิจกรรมเพาะ แจก แลก เปลี่ยน พิเศษสุดสำหรับผู้มาร่วมงาน มอบชุดจุลินทรีย์บำรุงดิน สูตรลับฉบับพิพิธภัณฑ์การเกษตร จำนวน 999 ชุด”