รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนำคณะหารือทวิภาคีไทย-ลาว กำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตลอดแนวชายแดนไทย-ลาว
วันที่ 25 ธันวาคม 2567 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียงจันทน์ พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน ป.ป.ส. เข้าร่วมการประชุมทวิภาคีไทย-ลาว เรื่อง ความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ครั้งที่ 20 (ระดับรัฐมนตรี) ณ โรงแรมลาวพลาซ่า นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
โดยในช่วงแรก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะ ได้เข้าหารือข้อราชการกับ พลโทคำกิ่ง ผุยหล้ามะนีวง รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและคณะ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้แสดงความยินดีที่ลาวเป็นประธานอาเซียน ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่จะยกระดับความร่วมมือไทย-ลาว ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยเฉพาะยิ่งในเรื่องของการควบคุมเคมีภัณฑ์ และการสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดนไทย-ลาว ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งสองประเทศมีความกังวล
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้หารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านการบำบัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าของฝ่ายไทยที่จะดำเนินการวิจัยในเรื่องยาทดแทนยาบ้า รวมทั้งได้มีความเห็นร่วมกันในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดเพื่อประโยชน์ในการเป็นหลักฐานดำเนินคดี สืบหาแหล่งผลิตยาเสพติดดังกล่าว และวางแผนดำเนินการแก้ปัญหา รวมทั้งเห็นควรส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาทางเลือกโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศไทย เพื่อสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด
จากนั้น พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เป็นประธานร่วมกับ พลโทคำกิ่ง ผุยหล้ามะนีวง รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในการประชุมทวิภาคีไทย-ลาว เรื่อง ความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ครั้งที่ 20 (ระดับรัฐมนตรี) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้แสดงความขอบคุณรัฐบาลลาวที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ และมีความร่วมมือที่ดีกับไทยมาโดยตลอด พร้อมทั้งชื่นชมความสำเร็จในการผลักดัน ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการขยายความร่วมมือในการปราบปรามการค้ายาเสพติดและสารเคมีตั้งต้น (ASEAN Leaders’ Declaration on Enhanced Cooperation Against
Illicit Drug Trafficking and Precursor Chemicals) ที่ได้รับการรับรองในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ณ กรุงเวียงจันทน์ประเทศลาว ซึ่งถือเป็นการกำหนดแนวทางของภูมิภาคในการปราบปรามยาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง นอกจากนั้น ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหายาเสพติดของไทย-ลาว ว่า “ปัจจุบัน ปัญหายาเสพติดยังคงเป็นความท้าทายสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนไทย - ลาวที่มีพรมแดนติดต่อกันยาวกว่า 1,800 กิโลเมตร และมีลักษณะภูมิประเทศที่ซับซ้อน ทำให้เอื้อต่อการลักลอบขนส่งยาเสพติดและการดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ทำให้พื้นที่กลายเป็นเส้นทางหลักสำหรับการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้าสู่ภูมิภาคและตลาดโลก การปราบปรามการลักลอบลำเลียงยาเสพติดตามแนวชายแดนไทย-ลาว จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิด เพื่อยับยั้งเครือข่ายการค้ายาเสพติด และลดผลกระทบต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของประชาชน
ในโอกาสนี้ ผมขอชื่นชมรัฐบาลลาว สำหรับความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหายาเสพติด และยกให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2564 และขยายต่อไปจนถึงปี 2568 ในส่วนของรัฐบาลไทยนั้น การแก้ไขปัญหายาเสพติดก็ยังคงเป็นนโยบายสำคัญลำดับแรก
และมีการผลักดันปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อเร่งรัดและสร้างเสริมความเข้มแข็งและเข้มข้นให้กับการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงบริเวณชายแดน
สำหรับรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ และความร่วมมือกับรัฐบาลลาว ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่เชื่อมโยงและใกล้ชิดผูกพัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทั้งสองประเทศและนำไปสู่ความสำเร็จในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ การแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าว การประสานงานในการปฏิบัติการจับกุมขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติในพื้นที่ชายแดน และการส่งตัวผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดกลับประเทศต้นทาง การดำเนินการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดจำนวนยาเสพติดที่เข้าสู่ประเทศของเรา แต่ยังสร้างความเชื่อมั่นในความร่วมมืออันแน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ และลดผลกระทบที่จะเกิดกับทั้งประเทศในภูมิภาค และนอกภูมิภาค ซึ่งเป็นประเทศปลายทาง นอกจากนี้ การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับพิษภัยของยาเสพติดในชุมชนชายแดน การพัฒนาโครงการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด การสนับสนุนความร่วมมือในระดับชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ยังช่วยสร้างมาตรการและเครือข่ายการป้องกันยาเสพติดที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศลาว และขอให้สานต่อและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันในทุกด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน การพัฒนากลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าว การส่งเสริมบทบาทของชุมชนบริเวณชายแดน และการผลักดันความร่วมมือในระดับภูมิภาค ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่ามิตรภาพและความร่วมมืออันยาวนานระหว่างไทยและลาวเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เสริมสร้างความมั่นคงและความสงบสุขให้กับประชาชนของทั้งสองประเทศ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคต่อไป“
จากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายและรับรองผลการประชุมฯ (ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส) โดยได้ตกลงที่จะร่วมมือกันดังนี้ (1) ยกระดับการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามชายแดนไทย-ลาว (2) ส่งเสริมให้มีการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าแขวงชายแดนไทย-ลาว เพื่อติดตามความคืบหน้าในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง (3) พัฒนาการดำเนินการของจุดตรวจ/จุดสกัดยาเสพติดในเส้นทางคมนาคมสำคัญใน สปป.ลาว เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของด่านตรวจ รวมทั้งขอความร่วมมือ สปป.ลาว ตั้งด่านลอย/ด่านตรวจชั่วคราว บริเวณจุดตรวจ/จุดสกัดยาเสพติดตามแนวชายแดนไทย-ลาว (4) ส่งเสริมปฏิบัติการร่วมระหว่างกำลังป้องกันชายแดนของไทยและลาวในการตั้งด่านตรวจสกัดกั้นยาเสพติดตามลำแม่น้ำโขง (5) จัดให้มีปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ร่วมกันระหว่าง ไทย ลาว และเมียนมา ในพื้นที่เสี่ยงของแต่ละประเทศ (6) ร่วมมือกันติดตาม จับกุม และส่งตัวผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับของทั้งสองประเทศ (7) จัดตั้งชุดปฏิบัติการสืบสวนเป้าหมายร่วมไทย-ลาว เพื่อทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ พร้อมทั้งขยายความร่วมมือในการสอบปากคำ การแลกเปลี่ยนข้อมูลพยานหลักฐานเพื่อขยายผลในการดำเนินคดีตามกฎหมาย และการตรวจสอบทรัพย์สินเพื่อตัดวงจรทางการเงินของเครือข่ายนักค้ายาเสพติด (8) แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ โดยให้มีการประชุมแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างกันเป็นประจำ ผ่านกลไกความร่วมมือในทุกระดับ (9) ร่วมกันกำหนดเป้าหมาย แนวทางการประสานงานระหว่างกัน ห้วงเวลาการปฏิบัติ และแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกันเพื่อปฏิบัติการคู่ขนานในการปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้านที่มีการแพร่ระบาด และลาดตระเวนเพื่อการป้องปรามทางบกและทางน้ำ (10) แลกเปลี่ยนตัวอย่างของกลางโดยเฉพาะในคดียาเสพติด
รายสำคัญ เพื่อตรวจพิสูจน์และวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะ (Drug Profiling) ของยาเสพติดทั้งทางกายภาพและองค์ประกอบทางเคมี รวมทั้งพัฒนาการตรวจพิสูจน์ และการจัดทำฐานข้อมูลลักษณะเฉพาะของยาเสพติดให้เป็นไปตามรูปแบบมาตรฐานร่วมกัน (11) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างจังหวัดของประเทศไทยและแขวงของ สปป.ลาว ผ่านกลไกที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ เพื่อสร้างหมู่บ้านปลอดยาเสพติดชายแดนไทย - ลาว และพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนในพื้นที่หมู่บ้านคู่ขนาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งต่อความยั่งยืน (12) จัดทำสื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้
ด้านยาเสพติดและกฎหมายยาเสพติด ในพื้นที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวรไทย - ลาว อย่างต่อเนื่อง (13) สนับสนุนโครงการพัฒนาทางเลือกให้แก่ฝ่ายลาว ในพื้นที่ประสบปัญหาการลักลอบปลูกพืชเสพติด (14) สนับสนุนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการพัฒนาศักยภาพด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้แก่ฝ่ายลาว (15) สนับสนุนงบประมาณผ่านโครงการเสริมสร้าง และยกระดับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการสกัดกั้นยาเสพติดและทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ (Letter Of Agreement : LOA) อย่างต่อเนื่องให้กับฝ่ายลาว ทั้งนี้ ไทยยินดีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทวิภาคีไทย - ลาว เรื่อง ความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ครั้งที่ 21 โดยจะได้หารือกันเพื่อกำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการจัดการประชุมฯ ดังกล่าวต่อไป
ในช่วงสุดท้ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้แสดงความเห็นและให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้ (1) ควรพัฒนาศักยภาพแล็ปเพื่อระบุและตรวจจับสารเคมีตั้งต้นได้อย่างแม่นยำ (2) ควรยกระดับการติดตามและจับกุมนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ โดยเฉพาะผู้ผลิต ซึ่งอาจจะจัดทำหมายจับ Most Wanted ขึ้น (3) ควรมีการแลกเปลี่ยนผู้ต้องขัง เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ต้องขังสัญชาติลาวที่อยู่ในประเทศไทย จำนวน 1,096 คน และส่วนมากเป็นคดียาเสพติดจึงควรประสานงานการโอนตัวนักโทษ เพื่อรับนักโทษลาวกับประเทศ และโอนตัวนักโทษไทยในลาวกลับมายังประเทศไทยด้วย (4) ควรพัฒนาระบบการป้องกันโดยเฉพาะด้านความต้องการเสพ (Demand) ของเยาวชนทั้ง 2 ประเทศ (5) ควรพิจารณาสกัดกั้นเส้นทางการเงินเพื่อติดตามจับกุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากนั้น ได้กล่าวปิดการประชุมฯ พร้อมทั้งแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยได้กล่าวขอบคุณและแสดงความชื่นชมรัฐบาลลาวที่มีความตั้งใจในการแก้ปัญหายาเสพติด โดยลาวถือเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ของไทยที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง สำหรับมติที่ประชุมในวันนี้ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ อีกทั้งยังแสดงถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน ผมเชื่อมั่นว่าผลลัพธ์จากการประชุมครั้งนี้จะถูกนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมและก่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างยั่งยืน