ววน.เผยนวัตกรรมทางรอด‘สึนามิ’ หวังทุกภาคส่วนร่วมลดความเสี่ยง
ววน.กางแผนงานวิจัยมุ่งนวัตกรรมทางรอดจากสึนามิ ชี้อนาคตต้องวางแผนรับมือภัยพิบัติเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยทำงานเชื่อมกับชุมชนไปจนถึงระดับนโยบาย ให้ทุกภาคส่วนร่วมคิดร่วมทำเพื่อให้งานวิจัยตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ขณะที่นักวิจัยย้ำสิ่งสำคัญต้องมีระบบเตือนภัยและการอพยพที่ดี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานเปิดเวทีเสวนาวิชาการ “จากงานวิจัยและนวัตกรรม...สู่ทางรอดภัยสึนามิ” ซึ่ง วช.เป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ อันเป็นกิจกรรมหนึ่งของงานรำลึก 20 ปี เหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ระหว่างวันที่ 26-27 ธันวาคม 2567 ณ จังหวัดพังงา จัดโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย
วช.ตระหนักถึงภัยพิบัติธรรมชาติทุกประเภท จึงริเริ่มงานพัฒนากำลังคนและศูนย์เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวเพื่อทำงานร่วมกันแบบสหวิทยาการที่หลากหลาย เพื่อสร้างขีดความสามารถของกำลังคนและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวและภัยพิบัติต่าง ๆ ให้ทัดเทียมนานาชาติ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม การเสวนาในครั้งนี้จึงหวังว่าจะเกิดการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติผ่านผลงานวิจัยและนวัตกรรม และสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้มั่นใจว่าจะลดความเสี่ยง ผลกระทบ และบรรเทาภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน ศ. ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงบทบาทวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กับภัยพิบัติสึนามิ” ว่าแผนด้าน ววน. 2566-2570 มียุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้พัฒนาอย่างยั่งยืน แก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมุ่งพัฒนานโยบายและต้นแบบเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง ววน. ไม่สามารถทำงานตามลำพังได้ ต้องบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วน เพื่อใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและยกระดับชุมชนท้องถิ่น โดยงบประมาณโครงการด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เสนอขอผ่านกองทุน ววน. ระหว่างปี 2563-2567 พบว่ามีทุนวิจัยเชิงกลยุทธ์ที่เน้นการป้องกันสึนามิรวม 17.528 ล้านบาท แต่ยังขาดงานวิจัยในประเด็นการบรรเทาปัญหาและการฟื้นฟูเยียวยา “ในอนาคตกองทุน ววน. จะทำงานเชื่อมกับชุมชนไปจนถึงระดับนโยบาย เพราะต้องการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตั้งแต่คิดโจทย์จากผู้ใช้ประโยชน์เพื่อทำวิจัยให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง”
ด้าน ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ย้ำว่าความพร้อมรับมือภัยพิบัติสึนามิสำหรับประเทศไทย สิ่งสำคัญคือระบบเตือนภัยที่จะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในระดับภูมิภาค รวมถึงมาตรการอพยพหนีภัยโดยต้องฝึกซ้อมภายใต้สถานการณ์ที่เหมาะสม ซึ่งผู้แทน ปภ. แจ้งว่าในปี 2567 ได้รับงบประมาณจัดทำการส่งข้อความเตือนภัยจากโทรศัพท์มือถือไปยังประชาชนในพื้นที่ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนกรกฎาคม 2568
ขณะที่ ผศ. ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ เลขานุการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวถึงแผนที่เสี่ยงภัยและกระบวนการอพยพ เครื่องมือสู่ทางรอดภัยพิบัติสึนามิ ว่าปัญหาหลักคือการปรับปรุงกระบวนการอพยพที่ยังไม่ดีพอ และต้องเฝ้าระวังตั้งแต่ทะเลอันดามันจนถึงฝั่งตะวันตกของเมียนมา เพราะอาจเกิดคลื่นสึนามิสูง 9 เมตรบริเวณพังงาเช่นเดิม อีกทั้งยังห่วงเรื่องขาดการบำรุงรักษาอาคารหลบภัย ซึ่งในต่างประเทศเช่นที่ญี่ปุ่นสร้างอาคารอเนกประสงค์เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่บังคับให้เรียนรู้ แต่ปลูกฝังให้เกิดสภาพแวดล้อมที่บูรณาการกับชีวิตประจำวันและสนุก ฝึกให้ช่วยเหลือตัวเองได้
ด้าน ผศ.ปัญจพาณ์ สุขโข แกนนำนักศึกษาพยาบาลจิตอาสา สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย เผยถึงการให้ความรู้ด้านภัยพิบัติให้เกิดการเรียนรู้และใช้ประโยชน์เพื่อเตรียมรับมือสึนามิ ภายใต้โครงการการพัฒนารูปแบบการเตรียมพร้อมรับแผ่นดินไหวเชิงรุกอย่างยั่งยืนในพื้นที่เสี่ยงของประเทศ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1) พัฒนาศักยภาพแกนนำแบบมีส่วนร่วม เช่น สร้างโปรแกรมหลักสูตรเตรียมพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวสำหรับแกนนำชุมชน เน้นการเอาตัวรอด เตรียมพร้อมรับแผ่นดินไหว ปฐมพยาบาลทางกายและใจ สถานการณ์จำลอง และแผนเตรียมพร้อมรับ 2) พัฒนาแผนการเตรียมพร้อมแผ่นดินไหวโดยแกนนำสู่ภาคประชาชน 3) ประเมินการใช้หลักสูตรสร้างต้นแบบเตรียมความพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหว นอกจากนี้ยังถ่ายทอดความรู้จากงานวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ สร้างความมั่นคงและเข้มแข็งด้านการจัดการภัยพิบัติ โดยมีโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวและได้รับผลกระทบจากสึนามิ แกนนำครูและนักเรียนเป็นกลุ่มตัวอย่าง เพื่อสร้างความรู้และทักษะในการเตรียมพร้อมรับมือ และแผนเตรียมพร้อมรับแผ่นดินไหวในโรงเรียน รวมทั้งโครงการพัฒนาเยาวชนเตรียมพร้อมรับสาธารณภัย รำลึก 20 เหตุการณ์สึนามิ ณ จังหวัดพังงา ความรู้เกี่ยวกับการเอาตัวรอด การช่วยเหลือผู้อื่น สื่อสารและแผนเตรียมพร้อมรับ การรับรู้ความสามารถของตนเอง
อนึ่ง รองผู้อำนวยการ สกสว. และคณะ ได้ร่วมพิธีเปิดและรำลึกถึงผู้สูญเสีย โดยมี น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทยเป็นประธาน รวมถึงร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนในพื้นที่ ณ บริเวณสวนอนุสรณ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม ชุมชนบ้านน้ำเค็ม และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็มด้วย