ดร. เปิ้ล นันทนุช สุวรรนาวุธ พิการทางการเห็น นักพัฒนาสังคมชำนาญการ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในช่วงวัยเด็กเธอเป็นโรคต้อกระจก ซึ่งจะต้องผ่าตัดตั้งแต่อายุเพียง 2 เดือน แต่ก็ยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่เมื่ออายุได้ประมาณ 11 ปี จากโรคต้อกระจกก็กลายเป็นโรคต้อหินแบบเฉียบพลัน ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นและกลายเป็นคนพิการทางการเห็นทันที
จุดเปลี่ยนของชีวิตที่ต้องกลายเป็นคนพิการทางการเห็น ต้องใช้เวลาในการปรับตัวพอสมควร จากการใช้ชีวิตและเรียน
ในโรงเรียนปกติทั่วไป ก็ต้องเข้าสู่การเรียนในโรงเรียนสอนคนตาบอด ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนหนังสือที่ต่างจากคนทั่วไป ทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่ การเรียนอักษรเบรลล์ รวมถึงการปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่แต่ด้วยความเป็นเด็กก็ทำให้สามารถเข้ากับเพื่อนได้ดีมากกว่าผู้ใหญ่และวัยรุ่น ที่อาจจะมีความยากในการปรับตัวอยู่พอสมควร เพราะบนเส้นทางของคนพิการไม่ได้ง่าย แต่ถ้ามีความพยายาม และได้รับโอกาสดีๆ ก็ทำให้ประสบความสำเร็จ สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข และเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ได้เช่นกัน
เมื่อพยายามแล้วทำไม่ได้ ก็ต้อง “ก้าวข้ามความพิการ”
ดร. เปิ้ล เล่าให้ฟังว่า “ในช่วงชีวิตตั้งแต่เริ่มเป็นคนพิการทางการเห็น มีอุปสรรคมากมายที่เราไม่สามารถทำได้ แม้ว่า
จะทำความเข้าใจแล้วก็ยังควบคุมไม่ได้ จนในบางครั้งการจัดการกับอุปสรรคเราก็ต้อง “ก้าวข้ามความพิการ” เพราะเมื่อถ้าเราพยายามแล้วก็ยังไม่สามารถทำได้ ก็ต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทำเท่าที่เราทำได้ เพราะถ้าเราไม่ ปล่อยวาง
ยังเก็บมาคิดก็จะทำให้เราเครียดและเสียสุขภาพจิตไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ซึ่งอะไรที่เราควบคุมไม่ได้ก็แค่ก้ามข้ามไป
เพื่อชีวิตที่มีความสุขขึ้น”
กว่าจะประสบความสำเร็จ ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ!!
สำหรับ ดร.เปิ้ล มองว่า “สิ่งสำคัญที่จะทำให้คนพิการประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปในสังคมได้นั้น ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมในหลายด้าน ทั้งความรู้และศักยภาพการดำรงชีวิตอยู่ เช่น ถ้ามีความรู้ไม่เพียงพอต้องหาความรู้เพิ่มเติม การเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ การใช้แอปพลิเคชันที่ช่วยทำให้เข้าถึงเอกสาร ได้มากขึ้น ต้องพัฒนาตนเอง ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เปิดรับอะไรใหม่ ๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ คนพิการก็ต้องพึ่งพาองค์กรคนพิการที่มีการจัดอบรมเฉพาะทางมีการสื่อสารกับกลุ่มคนพิการ เพื่อทำตัวเองไม่ให้เป็นน้ำเต็มแก้ว ต้องหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกันต้องถ่ายทอดให้คนอื่นได้เรียนรู้ด้วย มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนแบ่งปัน ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ประสบความสำเร็จและเป็นความภาคภูมิใจให้กับตนเอง จนสามารถคว้าปริญญา 5 ใบ มาครอบครอง”
คนพิการทุกคนมีศักยภาพ
สำหรับคนพิการที่กำลังท้อแท้อยู่ในตอนนี้ ดร. เปิ้ล ซึ่งเป็น บุคคลต้นแบบคนพิการ อยากฝากให้คนพิการทุกคน
“อย่ามองที่ข้อจำกัดของตนเอง ให้ก้าวข้ามอุปสรรคและมองไปข้างหน้า ต้องพัฒนาตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอ ไม่ต้องท้อ คนพิการทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง ให้ลองมองหาสิ่งที่เราทำได้ ซึ่งคนพิการทำได้ทุกอย่างและทำได้หลายอย่าง แต่เราต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าเราชอบอะไร อยากทำอะไร แล้วหาข้อมูลเตรียมความพร้อมให้กับตนเอง แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะหาข้อมูลได้อย่างไร ก็ปรึกษาจากผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญ สมาคม องค์กร หรือหน่วยงานภาครัฐ ที่ค่อยสนับสนุนงานด้านคนพิการ
อาทิ กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่สนับสนุนให้คนพิการทั่วประเทศเกิดกำลังใจในการใช้ชีวิต สร้างอาชีพ ดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ”
ดร.นันทนุช สุวรรนาวุธ พิการทางการเห็น นักพัฒนาสังคมชำนาญการ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตัวอย่างบุคคลต้นแบบคนพิการที่ประสบความสำเร็จด้านการประกอบอาชีพ การทำงาน ตลอดจนการดำเนินชีวิตในสังคม ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลต้นแบบในการสร้างแรงบันดาลใจ
ให้แก่คนพิการ และครอบครัวคนพิการ ที่เป็นต้นแบบในด้านการทำงาน และการใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเท่าเทียม
มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีได้ต่อไป
****************************************