ปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวง อว. ยกระดับนิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ เสริมความมั่นคงแห่งชาติ
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ รรท. เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ปส. ในยุคที่ภัยคุกคามทางนิวเคลียร์และการแพร่กระจายของวัสดุกัมมันตรังสีกลายเป็นประเด็นสำคัญระดับสากล นิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการรักษาความมั่นคงของประเทศ ปส. จึงเดินหน้ายกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ด้วยการพัฒนาศักยภาพด้านนิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ไทย รองรับภัยคุกคามอุบัติใหม่ สอดรับนโยบายของนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ อว. ที่มุ่งเน้นการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านความมั่นคงความปลอดภัยต่อประชาชน
ในวันที่ 25 – 28 มีนาคม 2568 ปส. ได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการเครื่องมือตรวจจับแบบครบวงจรและบทบาทของนิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ที่มีต่อความมั่นคงของประเทศ” ระหว่างวันที่ 25 – 28 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุมแอลฟา ชั้น 4 อาคาร 60 ปี เป็นกิจกรรมสืบเนื่องจากที่ ปส. ได้ลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานผู้ปฏิบัติงานส่วนหน้าที่ได้รับบริจาคเครื่องมือจากสถาบัน Institute for Transuranium Elements (ITU) แห่ง Joint Research Center (JRC) สหภาพยุโรป ตามโครงการ Border Monitoring Activities in Thailand เพื่อมอบเครื่องมือตรวจวัดรังสีให้กับประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ได้แก่ เครื่องวัดรังสีประจำตัวบุคคล (PRD) เครื่องวัดรังสีชนิดวัดแยกไอโซโทป (RID) และเครื่องวัดรังสีชนิด HPGe Detector
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ตามด่านที่เป็นช่องทางซึ่งอาจมีการลักลอบเกี่ยวกับนำเข้า-ส่งออกวัสดุนิวเคลียร์และวัสดุกัมมันตรังสี ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน และกระบวนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวน 16 หน่วยงาน อาทิ กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศกองทัพอากาศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ศูนย์พิสูจน์หลักฐานภาค 1, ภาค 3, ภาค 5, ภาค 7, และภาค 10 การท่าเรือแห่งประเทศไทย ท่าเรือแหลมฉบัง กรมท่าอากาศยาน ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยาน (จำกัด) มหาชน สำนักงานศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ จำนวนทั้งสิ้นกว่า 40 คน โดยเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยทางรังสี การใช้งานและบำรุงรักษาเครื่องมือตรวจวัดรังสี รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ วิเคราะห์ และติดตามวัสดุกัมมันตรังสี
การดำเนินงานของ ปส. ในด้านนิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ ไม่เพียงช่วยปกป้องประเทศจากภัยคุกคามทางนิวเคลียร์และวัสดุกัมมันตรังสี แต่ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าประเทศไทยมีมาตรการป้องกันและตอบสนองด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ที่มีประสิทธิภาพ และ ปส. ยังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีด้านนิติวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการเฝ้าระวังและป้องกันการลักลอบการนำเข้า-ส่งออกวัสดุนิวเคลียร์และวัสดุกัมมันตรังสีอย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งด้านนิติวิทยาศาสตร์เพื่อยับยั้งภัยคุกคามจากที่เกิดจากการใช้นิวเคลียร์ ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ประชาชนทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ และสนับสนุนนโยบายของ อว. ที่มุ่งใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อความก้าวหน้าของประเทศต่อไป